สมาคมนิสิตเก่าวิศวฯจุฬาฯ เปิดมุมมองพัฒนาระบบราง ยกระดับการค้า-ลงทุนเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน-จีน

สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาฯเปิดเวทีถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาระบบรางของไทย ดึง”ไพรินทร์”เปิดโมเดลเส้นทางเชื่อมโยง “อีอีซี” สู่ภูมิภาคและจีน ยกระดับขีดแข่งขันประเทศ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานทอล์ค ในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของระบบขนส่งรางไทย” โดยดร.ไพรินทร์  ชูโชติถาวร (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม) ในฐานะนิสิตเก่าวิศวฯจุฬาฯ เพื่อถ่ายทอดความรู้และมุมมองระบบรางในประเทศว่า  กิจกรรมครั้งนี้นับเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ที่ได้เห็นความชัดเจนในแผนการพัฒนาระบบรางของประเทศไทยในภาพใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในกรุงเทพ และหัวเมืองใหญ่ รวมไปถึงการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ  ทั้งในประเทศเพื่อนบ้านไปจนถึงประเทศ จีน ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่จะสามารถนำไปสู่การเตรียมความพร้อม ให้กับผู้บริหารที่อยู่ในสาขาธุรกิจต่างๆที่เป็นศิษย์เก่าวิศวฯ   จุฬาฯได้รับทราบข้อมูลแผนการลงทุนที่จะเกิดขึ้น รวมถึงทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต  ของระบบขนส่งรางไทย” ว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลปัจจุบันได้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบรางอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนมากขึ้นโดยมีเป้าหมายการพัฒนารถไฟทางคู่ทุกภูมิภาคถึงชายแดนเชื่อมกับประเทศในภูมิภาค คิดเป็นรถไฟทางคู่ 14 เส้นทาง 4,783 กิโลเมตร ในปี 2579  ส่วนรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเมืองเพื่อแก้ปัญหาจราจร  ตามแผนแม่บทระยะที่ 11 เส้นทาง จะมีระยะทางรวม 496 กิโลเมตร 309 สถานี โดยหลังจากนี้ ทุก  6 เดือน ประเทศไทย จะมีการเปิดส่วนต่อขยาย และรถไฟฟ้าสีใหม่ต่อเนื่อง

นอกจากนี้รัฐบาลจะอยู่ระหว่างการเปิดประมูลเพื่อพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)โครงการรถไฟความเร็วสูง ความร่วมมือไทย-จีน กรุงเทพ นครราชสีมา หนองคาย ซึ่งแผนดังกล่าวจะมีผลต่อการลดต้นทุนด้านขนส่ง หรือโลจิสติกส์ของประเทศให้ไทยมีศักยภาพการเป็นศูนย์กลางระบบขนส่งในภูมิภาคอาเซียน