‘SRTA-ศิริราช’ ผนึกกำลังศึกษาพัฒนาพื้นที่โดยรอบ ‘สถานีธนบุรี’ 148 ไร่ ยึดต้นแบบ ‘ญี่ปุ่น’ ประเดิมอัพเกรดอาคารที่พัก 14 ไร่ คาดเปิดเข้าพักในปี 69

“SRTA” จับมือศิริราช ศึกษาการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรีขนาด 148 ไร่  วางต้นแบบจากญี่ปุ่นเร่งศึกษาเสร็จภายใน 6 เดือน ประเดิมสร้างอารารที่พักพนักงาน รฟท. 14 ไร่ จ่อเปิดประมูลภายในปีนี้ คาดเริ่มสร้างปี 67 เสร็จพร้อมเปิดเข้าพักในปี 69 พร้อมลุยศึกษาพื้นที่อื่น สร้างรายได้ให้ รฟท. หวังเป็นรัฐวิสาหกิจเลี้ยงตัวเองได้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อดำเนินโครงการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรีระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) และบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด(SRTA) วันนี้ (23 .. 2566) ว่า SRTA ในฐานะบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ศึกษาและวางแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟธนบุรีและสถานีรถไฟฟ้าศิริราช พื้นที่ประมาณ 148 ไร่ เพื่อให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์และประโยชน์แก่สาธารณชน โดยใช้งบประมาณในการศึกษาประมาณ 10 กว่าล้านบาท และจะใช้ระยะเวลาในการศึกษา 6 เดือน

ทั้งนี้ ภายหลังการศึกษาแล้วเสร็จ SRTA จะเริ่มต้นการพัฒนาพื้นที่สถานีธนบุรีในระยะแรก (เฟสแรก) โดยการก่อสร้างอาคารที่พักสำหรับพนักงานการรถไฟฯ ขนาดพื้นที่ 14 ไร่ ซึ่งคาดว่า จะสามารถเริ่มการประกวดราคา(ประมูล) ภายในช่วงปลายปี 2566 ก่อนที่จะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2567 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี หรือแล้วเสร็จภายในปี 2569 ส่วนในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างนั้น SRTA จะย้ายผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่เดิม โดยพิจารณาหาพื้นที่ใหม่ให้พักอาศัยก่อน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในการดำเนินการ

ขณะที่พื้นที่ในส่วนที่เหลืออีกประมาณ 134 ไร่นั้น จะต้องรอผลการศึกษาแล้วเสร็จ ก่อนที่จะพิจารณาจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการต่อไป ขณะเดียวกัน ในปี 2566 จะดำเนินการศึกษาการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ของ รฟท. ควบคู่ไปด้วย อาทิ พื้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ แปลง A และแปลง E, พื้นที่สถานีมักกะสัน (บางส่วน) และพื้นที่พระราม 9 (RCA) ซึ่งคาดว่า จะศึกษาแล้วเสร็จภายในปีนี้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในขณะนี้ รฟท. ยังไม่ได้โอนสิทธิ์ให้SRTA เข้าไปบริหารพื้นที่แทนนั้น แต่ SRTA สามารถดำเนินการศึกษาได้ และคาดว่า รฟท. จะทยอยส่งมอบให้ SRTA ต่อไป

การพัฒนาพื้นที่ของ รฟท. นั้น อยากทำตั้งนานแล้ว และสามารถทำได้ โดยใช้ตัวแบบจากต่างประเทศ อาทิ ประเทศญี่ปุ่น อย่างพื้นที่โยโกฮาม่า โอซาก้า ซึ่งการจะพัฒนาพื้นที่ต่างๆ นั้น จะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร หรือ 40-50 ปีโดยต้องแบ่งการพัฒนาเป็นเฟสๆ ไป สำหรับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในครั้งนี้นั้น ถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับรฟท. เอาไปบริหารงานขององค์กร และสามารถทำให้ รฟท. มีผลประกอบการที่ช่วยเหลือตัวเองได้นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรีตามหลัก TOD นั้น อยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ของ รฟท. โดยพื้นที่ดังกล่าวนอกจากเป็นสถานีรถไฟธนุบรีแล้ว มีการใช้ประโยชน์ที่เกี่ยวกับโรงพยาบาล ที่จอดรถ ตลาด และที่พักอาศัย และเนื่องจากอยู่ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน ตรงข้ามกับเกาะรัตนโกสินทร์ ติดกับโรงพยาบาลศิริราช จึงมีศักยภาพในการพัฒนาสูง สามารถพัฒนาเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร ศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญทางฝั่งธนบุรี

อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และเป็นศูนย์กลางการแพทย์ที่สำคัญของประเทศ SRTA จึงจัดทำโครงการศึกษาการจัดทําแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรี โดยมีแนวคิดการพัฒนา เพื่อยกระดับพื้นที่ให้เป็นเมืองแห่งการแพทย์ (Medical District) ที่สำคัญของภูมิภาค พร้อมกับสร้างสิ่งแวดล้อมโดยรอบให้เป็นเมืองสีเขียว (Green Society) ด้วย

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า สำหรับขอบเขตการดำเนินงานภายใต้การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการศึกษาการจัดทําแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรีกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลในครั้งนี้ จะมีคณะทำงานและกำกับดูแลการปฏิบัติงานการจัดทำแผนแม่บทโครงการสถานีรถไฟธนบุรีจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกัน เพื่อให้การจัดทำแผนแม่บทสำเร็จลุล่วงเกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างสูงสุด

โดยมีแนวทางการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ศูนย์กลางการแพทย์และเมืองสีเขียว 4 ด้าน ได้แก่ 1.Connectivity Linkage เป็นการสนับสนุนโครงข่ายถนนและทางเดินที่มีการเชื่อมต่อในพื้นที่รอบโครงการกับสถานีรถไฟฟ้าและระบบขนส่งสาธารณะ 2.Green Environment สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ด้วยการใช้แนวความคิดพลังงานสะอาด สร้างสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3.Medical Complex สนับสนุนแนวคิดการพัฒนาทางการแพทย์อย่างครบวงจรและศูนย์การเรียนรู้เพิ่มเติม สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดย สร้างความร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช และ 4.Intregrated Mixed Use Development สนับสนุนการพัฒนาสำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัย โดย คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ การจัดทําแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรี เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์และเมืองสีเขียว โดยคำนึงถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การพัฒนาบนหลักธรรมาภิบาล เป็นการพัฒนาที่ตอบโจทย์การอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางสู่โรงพยาบาล ศิริราชอย่างรวดเร็วประชาชนมีทางเลือกหลากหลายในการเดินทาง และทำให้พื้นที่โดยรอบสถานีเอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตในทุกด้านซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน

สำหรับการลงนามในครั้งนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามกับนางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการบริษัทรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสทจำกัด (SRTA) โดยมีนางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศรปลัดกระทรวงคมนาคม คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารโรงพยาบาลศิริราช ร่วมงาน หอประชุมราชรถสโมสร อาคารราชรถสโมสร กระทรวงคมนาคม