‘เดลต้า’ เดินหน้าลุยธุรกิจเครื่องชาร์จรถยนต์EV มองทิศทางตลาดในไทยเติบโตดี – แข่งขันสูง

เดลต้า เปิดแผนครึ่งปีหลัง มุ่งเป้าสู่ธุรกิจ เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เดินหน้าผนึกคู่ค้าธุรกิจกระจายเครื่องติดตั้งชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าการใช้งาน ต่อกรกับสินค้าจากจีนราคาถูก เดลต้าพร้อมชูจุดแข็งสินค้าคุณภาพส่งตรงจากยุโรป และบุคลากรที่มีทักษะสูง พร้อมเผยธุรกิจเครื่องชาร์จไฟรถEV ในไทยแนวโน้มการเติบโตดี

นายกิตติศักดิ์ เงินงอกงาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจระดับภูมิภาคของเดลต้า ประเทศไทย กล่าวว่า กลยุทธ์ครึ่งปีหลังของเดลต้าในประเทศไทย จะเน้นที่กลุ่มธุรกิจระบบเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ทั้งในแบบระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจากรถยนต์สู่บ้านเรือน (Vehicle to Home : V2H) และเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้เทคโนโลยีการสื่อสารจากยานพาหนะสู่ทุกสิ่ง แบบสองทิศทาง (Vehicle to Everything : V2X) มากขึ้น จากในปีที่ผ่านมาบริษัทได้เริ่มทำการตลาดโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มลูกค้า และประชาชนทั่วไปได้รู้จัก รวมถึงการจับมือกับคู่ค้า อย่าง นิสสัน ประเทศไทย ในการเข้าไปเป็นผู้ให้บริการหลักด้านโซลูชั่นสำหรับเครื่องชาร์จแบตเตอรี่แพค สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัย และการจับมือกับมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ร่วมกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในการพัฒนาแอปพลิเคชันของ กฟภ. สำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจากมิตซูบิชิ มอเตอร์ส และที่ตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของเดลต้า เพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าสามารถค้นหาสถานีชาร์จทั่วประเทศได้อย่างสะดวกและง่ายยิ่งขึ้น

ขณะที่ในปีนี้จะเดินหน้าสร้างพันธมิตรทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ เดลต้า ได้ร่วมมือกับ บมจ. ปตท. (PTT)  เพื่อทำการศึกษาและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ระบบนิเวศ อุปกรณ์ และแบตเตอร์รี่สำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

เดลต้าเองขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) บริษัทย่อยของบมจ. ปตท. (PTT)  เรื่องการติดตั้งเครื่องชาร์จไฟสำหรับรถ EV เพื่อนำไปติดตั้งในองค์กร และลูกค้าที่มาเช่ารถกับบริษัท พร้อมกับมีบริการเครื่องชาร์ต ซึ่งมั่นใจว่าข้อตกลงดังกล่าวจะสำเร็จอย่างแน่นอนและคาดว่าจะสามารถนำเข้าไปติดตั้งได้ไม่ต่ำกว่า 100 เครื่อง นอกจากนี้ เดลต้า ยังเตรียมติดตั้งเครื่องชาร์จไฟสำหรับรถ EV ในการไฟฟ้าฝ่ายการผลิต อีกจำนวน 100 เครื่อง คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จภายในปีนี้ เช่นเดียวกัน

นายกิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปีนี้เดลต้าจะโฟกัสเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า V2X แบบสองทิศทาง และเครื่องชาร์จไฟฟ้ารุ่น DC City รวมถึงเครื่องชาร์จไฟฟ้ารุ่น AC Max โดยทั้งหมดนี้ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการชาร์จที่สะดวกรวดเร็ว เหมาะสำหรับการชาร์จในเมือง โดยเครื่องชาร์จรุ่น DC City (50 kW/ 100 kW) ประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงถึง 94% สามารถการกระจายโหลดแบบไดนามิกสำหรับการชาร์จพร้อมกัน ต่อมาคือ เครื่องชาร์จรุ่น AC Max (22 kW) ใช้พลังงานในการสแตนด์บายต่ำ เพื่อประหยัดพลังงาน มีการจัดการระยะไกลโดยเครือข่ายการเชื่อมต่อภายในตัวเครื่อง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเดลต้าจะวางแผนทำตลาดอย่างหนัก แต่ต้องยอมรับว่า ธุรกิจเครื่องชาร์จไฟสำหรับรถ EV มีการแข่งขันสูงและค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องของราคา เนื่องจากมีบริษัทที่นำเข้าเครื่องชาร์จไฟสำหรับรถ EV จากจีนเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยจำนวนมาก แต่เดลต้าเอง ไม่ลงไปเล่นเรื่องราคาอย่างแน่นอน แต่จะเน้นไปที่จุดขายหลัก นั่นคือ คุณภาพของสินค้า บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการกับลูกค้า ดังนั้นจึงมองว่าภาพรวมธุรกิจเครื่องชาร์จไฟสำหรับรถ EV ในประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงการที่รัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนเงินให้ผู้ประกอบรถEV ทั้งนำเข้าจากต่างประเทศและผลิตในประเทศ นำไปเป็นส่วนลดให้ประชาชนที่สนใจซื้อรถ EV ทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ 18,000 – 150,000 บาท/คัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาท/คัน รวมถึงการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8 % เป็น 2 % และรถกระบะเป็น 0 % ซึ่งคาดว่าจะทำให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ประกอบกับในช่วงเวลานี้ ราคาน้ำมันสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันให้รถยนต์ไฟฟ้ามีการเติบโตได้รวดเร็วขึ้นอีกด้วย