กฟภ. รุกใช้พลังงานทางเลือก เร่งตั้งบริษัทลุยงาน Net Zero นำร่องติด ‘Solar Rooftop’ สำนักงาน กฟภ. 200 สาขา

กฟภ.เดินหน้าลงทุนด้านโครงการใช้พลังงานทางเลือกผ่านระบบ Solar cell มุ่งกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการระดับ B ควบคู่กับอาคารสำนักงานของ กฟภ. ทั้ง 1,000 สาขา คัดมานำร่องทำก่อน 200 สาขาจากทั่วไทย พร้อม MOU “เทศบาลเมืองระยอง” สนองนโยบายประหยัดพลังงานในอาคารของหน่วยงานส่วนการปกครองท้องถิ่น

แหล่งข่าวระดับสูงจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA เปิดเผยว่า กฟภ. ยังคงเดินหน้ารุกการใช้พลังงานทางเลือกจากพลังงานแสงแดดผ่านระบบ Solar cell กันอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง PEA พร้อมลงทุนเองทั้งหมด โดยเป้าหมายหนึ่งคือกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการระดับ B (ผู้ประกอบการขนาดกลาง-ขนาดย่อม) ที่สนใจประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้า

นอกจากนั้น ประชาชนที่มีพื้นที่หลังคาบ้าน หรือพื้นที่ว่างก็สามารถเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar rooftop) ได้เช่นกัน โดยตามแผนในปี 2565 พร้อมนำอาคารของ กฟภ.ทั้ง 1,000 สาขาทั่วประเทศเข้ามาร่วมขับเคลื่อนโครงการประหยัดพลังงาน โดยคัดมาดำเนินการก่อนจำนวน 200 สาขา เพื่อเป็นต้นแบบขยายสู่ชาวบ้านนำไปดำเนินการได้ทั่วประเทศต่อไป

ทั้งนี้ ล่าสุดร่วมกับเทศบาลเมืองในพื้นที่ EEC ยกระดับการบริหารจัดการพลังงานภายในองค์กรด้วยระบบดิจิทัล ให้เป็นโครงการนำร่องด้านการบริหารจัดการพลังงานรูปแบบอาคารอัจฉริยะเพื่อสนองนโยบายรัฐบาลด้านการประหยัดพลังงานและเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน มุ่งสู่การเป็นหน่วยงานภาครัฐใช้พลังงานสะอาด จัดว่าเป็นโมเดลต้นแบบการบริหารจัดการพลังงานสะอาดในพื้นที่ EEC

ไม่จำกัดการลงทุน ขึ้นอยู่กับพื้นที่หลังคาบ้าน หรือพื้นที่ว่างของสำนักงาน โดยยังจ่ายค่าไฟฟ้ากับ กฟภ. ตามปกติ แต่สามารถเลือกรับส่วนลดค่าไฟลงได้ ซึ่ง กฟภ. ออกแบบและบริหารจัดการให้ หากเป็นหน่วยงานภาครัฐหน่วยงานนั้นๆ จะต้องตั้งเรื่องนำเสนอให้ผู้บริหารหน่วยงานพิจารณาอนุมัติรหัสบัญชีและกรอบงบประมาณค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคเพิ่มเติมเพื่อรองรับการเบิกจ่าย โดยเดิมเป็นค่าไฟฟ้า เปลี่ยนมาเป็นการเพิ่มรหัสบัญชีค่าบริการด้านจัดการพลังงาน”

ดังนั้น เวลาที่ กฟภ. เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจึงจะมี 2 บิล คือ บิลแรกเป็นค่าจากมิเตอร์ไฟเดิม (ค่าไฟฟ้า) และบิลที่สอง มาจากค่ามิเตอร์ Solar cell (ค่าบริการด้านจัดการพลังงาน) นั่นเอง โดยยังคงเป็นงบประมาณค่าใช้จ่ายค่าสาธารณูปโภค ค่าไฟก้อนเดิม เพียงแบ่งออกมาเป็นค่าบริการด้านจัดการพลังงาน สำหรับเบิกจ่ายให้กับ PEA ดังเดิม โดยสามารถเลือกรับส่วนลดค่าไฟจากมิเตอร์ Solar cell หรือเลือกรับ Solar cell เป็นทรัพย์สินของหน่วยงานไวขึ้น (เมื่อครบกำหนดสัญญา)

แหล่งข่าว กฟภ. กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันกฟภ.ยังทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานภาครัฐต่างๆไว้แล้วจึงสามารถดำเนินการอย่างสะดวกรวดเร็วขึ้นด้วยการนำเอาหนังสือบันทึกความร่วมมือดังกล่าวเข้าพิจารณาในการประชุมของผู้บริหารเพื่ออนุมัติให้แต่งตั้งรหัสบัญชีอย่างถูกต้อง

อีกทั้ง เตรียมติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติมให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทยในปี 2565 จากที่ในปี 2564 มีสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าของ กฟภ. มากกว่า 73 สถานีเปิดให้บริการแล้ว หลังจากนั้นจะพาผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า, ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และประกอบยานยนต์ ร่วมหารือกับ กฟภ. เพื่อขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังเพื่อตอบสนองต่อนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และแผนงาน Net Zero ต่อไป

“การขายไฟคืนให้ กฟภ. เรามองว่าอาจเป็นช่องทางสุดท้าย เพราะผู้ประกอบการ หรือชาวบ้าน ทำเอง ใช้เอง เหลือใช้ก็เก็บไว้ใช้ในวันพรุ่งนี้ได้อีก ขณะนี้ กฟภ. ตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยมีแผนดำเนินการใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.เรื่องพลังงานสะอาด (Green Energy) 2.ยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (Green Mobility) และ 3.การขนส่งสีเขียว” แหล่งข่าวจาก กฟภ. กล่าว