“การบินไทย” โชว์ 9 เดือนแรกปี 64 ฟันกำไรสุทธิ 5.1 หมื่นล้าน หลังลุยฟื้นฟูกิจการรุดหน้า ยันสถานะทางการเงินเข้มแข็ง–มั่นคง คาดปี 65 กวาดรายได้จากขนส่งผู้โดยสารแตะ 1 แสนล้าน พร้อมร่วมเปิดประเทศเพิ่มรายได้ ตอกย้ำความเป็นสายการบินแห่งชาติ–ฟันเฟืองหลักพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานประจำงวด 9 เดือนแรกของปี 2564 ว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อย ขาดทุนจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 21,491 ล้านบาท มีรายได้รวมทั้งสิ้น 14,990 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 29,230 ล้านบาทหรือ 66.1% มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 36,481 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 41,695 ล้านบาท หรือ 53.3% เนื่องจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งลดลง
อีกทั้ง การดำเนินมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่ายตามแผนปฏิรูปธุรกิจ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นรายได้ จำนวน 73,084 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ การขายทรัพย์สินและเงินลงทุน การปรับโครงสร้างองค์กร เป็นต้น ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิในงวด 9 เดือนแรกของ ปี 2564 จำนวน 51,115 ล้านบาท
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 163,703 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธ.ค. 2563 จำนวน 45,594 ล้านบาท (21.8%) หนี้สินรวมมีจำนวน 240,196 ล้านบาทลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563 จำนวน 97,766 ล้านบาท (28.9%) ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 76,493 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธ.ค. 2563 จำนวน 52,172 ล้านบาท
บริษัทฯ มีสถานะการเงินที่เข้มแข็งและมั่นคง มีกระแสเงินสดเพียงพอต่อการดำเนินกิจการ ระหว่างการจัดหาสินเชื่อใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการในระยะต่อไปได้ในไตรมาสแรกของปี 2565 ที่จะถึงนี้” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการหารายได้จากการพัฒนาระบบตัวแทนจำหน่าย การบริหารช่องทางการขายตรง ตลอดจนการลงทุนนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามายกระดับความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ คู่ขนานมาโดยตลอด มีเป้าหมายในการสร้างการเติบโตด้านรายได้อย่างต่อเนื่องและทำกำไรได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ พ.ย. 2564 เป็นต้นไป บริษัทฯ ทำการเพิ่มเส้นทางบินและเที่ยวบิน ทั้งในส่วนของบริษัทฯ และสายการบินไทยสมายล์ ไปยัง 44 จุดหมายปลายทางหลักในประเทศและภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกกว่า 400 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เปิดประตูเชื่อมไทยสู่โลกและเชื่อมไทยเป็นหนึ่ง รองรับผู้โดยสารกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน ผลักดันให้รายได้จากการขนส่งผู้โดยสารกลับไปสู่ระดับ 1 แสนล้านบาทในปี 2565 และตอกย้ำความเป็นสายการบินแห่งชาติ ในการร่วมเปิดประเทศและทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองหลักขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กลไกสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ