เช็ครายละเอียดที่นี่! ครม.ไฟเขียวร่างกฎกระทรวงฯ รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ให้บริการผ่านแอปฯ ถูก กม.

ครม. ไฟเขียวร่างกฎกระทรวงรถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน จดทะเบียนให้บริการขนส่งผู้โดยสารรับจ้างผ่านแอปพลิเคชันได้ หลังเป็นที่นิยมของ ปชช.ใช้บริการ ด้าน “ขนส่ง” เร่งออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หลังจากกฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ “ศักดิ์สยาม” เผยเปิดให้บริการได้เมื่อผู้ประกอบการมีความพร้อม ลั่น! 1 คน จดทะเบียนได้ 1 คัน ผู้ขับต้องมีใบขับขี่สาธารณะ ใช้ป้ายทะเบียนเดิม ส่วนค่าโดยสารรถขนาดกลาง-เล็กไม่เกินค่ารถแท็กซี่ในปัจจุบัน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (25 พ.ค. 2564) มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถรับจ้างบรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคนผ่านระบบอิเล็กทรอนิสก์ พ.ศ. …. โดยเป็นการอนุญาตให้รถยนต์ส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทเป็นรถยนต์รับจ้าง โดยการรับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับประชาชนในการให้บริการ และส่งเสริมให้ผู้ขับรถยนต์ดังกล่าว สามารถประกอบอาชีพได้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ เหตุผลและความจำเป็นในการออกร่างกฎกระทรวงดังกล่าวนั้น เนื่องจากปัจจุบันการให้บริการการเดินทางโดยการเรียกใช้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นที่นิยมของประชาชน ซึ่งรถยนต์ที่นำมาให้บริการบางส่วนยังไม่สามารถนำมาจดทะเบียนได้ตามประเภทที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น จึงเห็นสมควรกำหนดให้มีรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นอีกแบบหนึ่งของรถยนต์รับจ้าง

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะต้องออกประกาศกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การรับรองผู้ให้บริการ และแอปพลิเคชัน ที่จะนํามาให้บริการตามฐานอํานาจที่กําหนดในร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว โดยจะรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องและออกประกาศ โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน (30 วัน) หลังจากที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ ซึ่งกฎกระทรวงมีผลใช้บังคับนั้น จะต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา

จากนั้นเมื่อผ่านขั้นตอน ขบ. ออกประกาศฯ แล้ว ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน จะต้องยื่นเอกสารการทำงานของแอปพลิเคชัน ก่อนที่คณะกรรมการ ขบ. จะพิจารณาคุณสมบัติผู้ให้บริการ และรายละเอียดทางเทคนิคของแอปพลิเคชัน เมื่อผ่านการพิจารณาแล้ว จะออกหนังสือรับรอง หลังจากนั้นจะเปิดลงทะเบียนของทั้งผู้ขับรถ และผู้โดยสาร ก่อนจะเริ่มเปิดให้บริการต่อไป ส่วนจะสามารถเปิดให้บริการได้เมื่อไหร่นั้น จะขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ประกอบการ

สำหรับรายละเอียดในการดำเนินการของรถยนต์ส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทเป็นรถยนต์รับจ้างนั้น จะใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลเดิม โดยให้นายทะเบียนเปลี่ยนประเภทการจดทะเบียน เป็นรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในใบคู่มือจดทะเบียนรถ ขณะที่ ตัวรถ จะต้องมีอายุใช้งานได้ไม่เกิน 9 ปี แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.ขนาดเล็ก (เครื่องยนต์ 50-90 kW) เช่น March, Vios, City, Mirrage เป็นต้น 2.ขนาดกลาง (เครื่องยนต์ 90-120 kW) เช่น Altis, Civicเป็นต้น และ 3.ขนาดใหญ่ (เครื่องยนต์มากกว่า 120 kW) เช่น Accord, Fortuner เป็นต้น ทั้งนี้ จะมีลักษณะเป็นรถเก๋ง, แวน สองตอน หรือสามตอนก็ได้ โดยจะต้องมีการทำประกันภัยเพิ่มเติมคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้โดยสาร และติดเครื่องหมายแสดงการใช้แอปพลิเคชันด้วย

ในส่วนของคนขับรถนั้น กำหนดให้จะต้องมีใบขับขี่สาธารณะ และผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และใช้แอปพลิเคชันของผู้ให้บริการแอปพลิเคชันที่ผ่านการรับรองจาก ขบ. ขณะที่ อัตราค่าโดยสาร จะแบ่งเป็น รถขนาดเล็ก, กลาง มีค่าโดยสารไม่เกินอัตราของรถแท็กซี่ในปัจจุบัน ด้านรถขนาดใหญ่ มีค่าโดยสารไม่เกินอัตราของรถแท็กซี่  VIP ในปัจจุบัน โดยสามารถมีค่าบริการเพิ่มเติมกรณีอื่นได้ แต่ต้องไม่เกิน 200 บาท ทั้งนี้ รัฐมนตรีฯ จะเป็นผู้ประกาศกำหนดอัตราค่าโดยสาร

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า สำหรับรายละเอียดของแอปพลิเคชันนั้น จะต้องเป็นแอปพลิเคชันสําหรับเรียกใช้บริการรถยนต์รับจ้างฯ ในส่วนของผู้ขับรถ (Driver Application) จะต้องมีระบบยืนยันตัวตน เช่น Pin Code, Fingerprint, Face Scan เป็นต้น อีกทั้งมีระบบคํานวณเส้นทาง ระยะเวลา และค่าโดยสารโดยประมาณ มีระบบรับส่งข้อความ/โทรศัพท์กับผู้โดยสารในส่วนของผู้โดยสาร (Passenger Application) จะมีระบบลงทะเบียนผู้โดยสาร ระบบเรียกใช้งานรถยนต์รับจ้างแบบทันทีและแบบจองล่วงหน้า รวมถึงมีระบบคํานวณเส้นทาง ระยะเวลา และค่าโดยสารโดยประมาณ ระบบประเมินความพึงพอใจต่อผู้ขับรถ และระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน

ขณะที่ คุณสมบัติของผู้ให้บริการแอปพลิเคชันนั้น จะต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีทุนจดทะเบียนตามที่กำหนดในประกาศ (ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท) และต้องมีสถานที่ประกอบการในประเทศไทย รวมถึงมีความพร้อมในการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และต้องไม่เคยถูกเพิกถอนในการได้รับอนุญาตเป็นผู้ให้บริการระบบ GPS ตามกฎหมายของ ขบ. ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัทผู้ให้บริการแอปพลิเคชันในประเทศไทย เช่น บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด (Grab) มีทุนจดทะเบียน 2.87 พันล้านบาท, บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Robinhood) มีทุนจดทะเบียน 900 ล้านบาท, บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด (Food Panda) มีทุนจดทะเบียน 204 ล้านบาท, บริษัท เวล็อคซ์ จำกัด (Gojek) มีทุนจดทะเบียน 104 ล้านบาท, บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด มีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท