รฟท.ปั้นพื้นที่ย่าน ‘สถานีธนบุรี’ 21 ไร่ เนรมิต ‘โรงแรม 3 ดาว-ศูนย์การค้า-เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์’ ดันรายได้ 30 ปี 3,584 ล้าน คาดเปิดให้บริการปี 69

รฟท.หยั่งเสียงเอกชน ปั้นพื้นที่ย่านสถานีธนบุรี 21 ไร่ เนรมิต “โรงแรม 3 ดาว-ศูนย์การค้า-อพาร์ตเมนต์-บ้านพักพนักงานรถไฟฯ” ดันรายได้ 30 ปี มูลค่า 3,584 ล้าน พร้อมโชว์ศักยภาพทำเลทอง เชื่อมรถไฟฟ้า 2 สถานี 3 เส้นทาง คาดเปิดยื่นซองประมูล ต.ค.นี้ ก่อสร้าง 4 ปี แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการปี 69

นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณบ้านพักพนักงานย่านสถานีธนบุรี (ครั้งที่ 2) วานนี้ (19 มี.ค. 2564) ว่า รฟท. ได้ว่าจ้างบริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษา เพื่อจัดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน ทบทวนผลการศึกษา และปรับปรุงเอกสารการคัดเลือกเอกชนโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณบ้านพักพนักงานย่านสถานีธนบุรีโดยวิธีเฉพาะเจาะจง และโครงการกําหนดให้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณบ้านพักพนักงานย่านสถานีธนบุรี ทั้งนี้ การทบทวนผลการศึกษา และจัดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนใหม่นั้น เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โดวิด-19)

สำหรับกระบวนการหลังจากนี้ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด จะรวบรวมความคิดเห็น และปรับปรุงรายงานผลการศึกษา ก่อนสรุปเสนอให้ รฟท. พิจารณา คาดว่า ภายใน เม.ย.-พ.ค. 2564 จากนั้น รฟท.จะประชุมคณะกรรมการจัดทำร่างรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเปิดจำหน่ายเอกสารการประมูลในช่วง ส.ค. 2564 และจะให้เวลาเอกชนจัดทำข้อเสนอ 2 เดือน ก่อนเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอเช่าพื้นที่ใน ต.ค. 2564 และคาดว่า จะประกาศผลผู้ชนะประมูลได้ภายใน ธ.ค. 2564 อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการร้องเรียน จะสามารถลงนามสัญญาได้ในช่วง ม.ค. 2565 ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 4 ปี หรือแล้วเสร็จประมาณปี 2568 และเปิดให้บริการปี 2569

“สิ่งแรกที่เอกชนต้องดำเนินการหลังจากลงนามสัญญาคือ การเคลียร์พื้นที่บ้านพนักงานการรถไฟฯ ที่ในปัจจุบันพักอาศัยอยู่ 305 ครัวเรือน โดยในสัญญากำหนดให้ก่อสร้างบ้านพักสำหรับพนักงานการรถไฟฯ 315 ห้องทดแทนบ้านพักเดิมบนพื้นที่ 3 ไร่ ขณะเดียวกัน ยอมรับว่า พื้นที่ย่านสถานีธนบุรี ถือเป็นพื้นที่ที่จะเป็นศูนย์กลางการเดินทางเชื่อมต่อที่สำคัญของกรุงเทพฯ เพราะในอนาคตจะสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้า 2 สถานี 3 เส้นทาง โดยอยู่ห่างโครงการประมาณ 800 เมตร” นายเอก กล่าว

นายเอก กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของเนื้อที่ของโครงการฯ มีขนาด 21 ไร่ 3 งาน มูลค่าของโครงการจากการศึกษาเบื้องต้น 3,500 ล้านบาทให้เอกชนเช่าระยะยาว 30 ปี แบ่งพื้นที่เป็น 4 โซน ประกอบด้วย 1.พื้นที่โรงแรมและศูนย์การค้าสูง 13 ชั้น 2.ศูนย์พักฟื้นและฟื้นฟูสุขภาพ หรือเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ เปิดบริการในระดับลักซ์ชัวรี่ 3.เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ 2 เปิดบริการสําหรับกลุ่มแพทย์และผู้พักฟื้นต้องการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิดในย่านธนบุรี จํานวน 300 ห้อง และ 4.บ้านพักสําหรับพนักงานการรถไฟ จํานวน 315 ห้อง

ทั้งนี้ ในจำนวนพื้นที่ 21 ไร่ 3 งาน จะเป็นพื้นที่ ที่จะนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ 14 ไร่ มูลค่าที่ดิน 1,770 ล้านบาท โดยจะให้เอกชนเช่า 30 ปี และก่อสร้าง 4 ปี (30+4) โดยมีผลตอบแทนให้ รฟท. 1,125 ล้านบาท หรือคิดเป็น 64% ทั้งนี้ เมื่อลงนามสัญญากับผู้ชนะประมูลแล้ว เอกชนจะต้องจ่ายทันที (Up Front) วงเงิน 337 ล้านบาท หรือประมาณ 30% ของผลตอบแทน จากนั้นจะทยอยจ่ายเป็นรายปีจนครบ 30 ปี โดยจะจ่ายปีละ 47.48 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 10% ทุก 3 ปี โดยในปีสุดท้ายจะจ่าย 196.69 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวม 30 ปี รฟท. จะได้ผลตอบแทนรวม 3,584 ล้านบาท

รายงานข่าวจาก รฟท. ระบุว่า สำหรับพื้นที่ 4 โซนนั้น มีรายละเอียด แบ่งเป็น

  • โซนที่ 1 พื้นที่โรงแรมและศูนย์การค้าสูง 13 ชั้น ในส่วนของโรงแรมบัดเจด (3 ดาว) จํานวน 720 ห้อง สําหรับญาติผู้ป่วยพักอาศัย และศูนย์การค้าอํานวยความสะดวกภายในโครงการสามารถรองรับกลุ่มเป้าหมายได้ 8,000-10,000 ต่อวัน โดยมีจํานวนที่จอดรถ 501 คัน
  • โซนที่ 2 ศูนย์พักฟื้นและฟื้นฟูสุขภาพ หรือเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ 1 เปิดบริการในระดับลักซ์ชัวรี่ สําหรับผู้พักฟื้น ต้องการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิดที่เข้ามารับบริการจากโรงพยาบาลใกล้เคียง ที่ตั้งของโครงการ อาทิ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลธนบุรี เป็นต้น และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลที่กล่าวมาข้างต้น จํานวน 280 ห้อง รองรับจํานวนที่จอดรถ 232 คัน
  • โซนที่ 3 เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ 2 เปิดบริการสําหรับกลุ่มแพทย์และผู้พักฟื้นต้องการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิดใน ย่านธนบุรี จํานวน 300 ห้อง รองรับจํานวนที่จอดรถ 235 คัน ทั้งนี้ จากการศึกษาโครงการเบื้องต้น พื้นที่เซอร์วิส อพาร์ตเม้นต์ท้ัง 2 ส่วนในรูปแบบ 1 ห้องนอน ขนาดพื้นที่ 33 ตารางเมตร ส่วนรูปแบบ 2 ห้องนอน ขนาดพื้นที่ 45-50 ตารางเมตร
  • โซนที่ 4 บ้านพักสําหรับพนักงานการรถไฟ จํานวน 315 ห้อง รูปแบบของที่พักอาศัย 35-50 ตารางเมตรทดแทน บ้านพักแนวราบเดิม พร้อมรองรับที่จอดรถสําหรับพนักงาน 265 คัน

สําหรับพื้นที่ของโครงการในอนาคตสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้า 2 สถานี 3 สายเส้นทางซึ่งทั้ง 2 สถานีต่างเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟสายอื่นๆ ในอนาคต ได้แก่ สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช, สายสีน้ําเงิน ช่วง บางซื่อ-ท่าพระ และสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ทําให้ย่านที่ตั้งของโครงการเป็นหนึ่งในทําเล เชื่อมต่ออนาคตที่สําคัญของกรุงเทพมหานคร