‘ศักดิ์สยาม’ สั่ง 4 หน่วยงานการบิน จัดทำแผนตารางเที่ยวบินเพิ่ม สอดคล้องการพัฒนาสนามบินปี 66-68 รองรับผู้โดยสาร 200 ล้านคน

“ศักดิ์สยาม” สั่ง 4 หน่วยงานในสังกัดฯ “กพท.-บวท.-ทอท.-ทย.” บูรณาการจัดทำตารางเที่ยวบินเพิ่ม รองรับสายการบินต่างประเทศอื่นสนใจบินเข้าไทย สอดรับแผนพัฒนาสนามบินทยอยแล้วเสร็จปี 66-68 รับผู้โดยสารมากกว่า 200 ล้านคน ไฟลท์มากกว่า 1,000 เที่ยวบิน ด้าน ครม.รับทราบบันทึกความเข้าใจการเจรจาการบิน “ไทย-บราซิล” ลุยเปิดไฟล์ทได้สัปดาห์ละ 14 เที่ยว

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยรายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย-บราซิลว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 มีมติรับทราบบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-บราซิล (บันทึกความเข้าใจฯ) และให้ความเห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของฝ่ายไทย โดยมอบให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยันการมีผลใช้บังคับของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวต่อไป โดยให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถปรับถ้อยคำตามความเหมาะสมที่ไม่กระทบกับสาระสำคัญ ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจฯ และร่างดังกล่าว เป็นไปตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

สำหรับบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว เป็นการปรับปรุงข้อบทภายใต้ความตกลงฯ โดยฝ่ายไทย และฝ่ายบราซิล จะสามารถทำการบินได้ฝ่ายละ 14 เที่ยว/สัปดาห์ ด้วยแบบอากาศยานใดๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้สายการบินของทั้ง 2 ฝ่าย มีความยืดหยุ่นในการวางแผนการให้บริการเป็นการส่งเสริมการเดินทางระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ในขณะเดียวกัน ยังทำให้เกิดการแข่งขันกันในเส้นทางบิน ส่งผลให้ค่าขนส่งเป็นไปตามกลไกตลาด อันเป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกให้ผู้โดยสารมากขึ้น

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ได้มอบหมายให้นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ไปบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.), บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.), บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ในการนำข้อมูลแผนการพัฒนาสนามบิน มาจัดทำแผนตารางเที่ยวบินว่าสามารถเพิ่มขึ้นได้เท่าไหร่ เพื่อที่จะได้สามารถแจ้งข้อมูลให้กับสายการบินต่างๆ ที่สนใจทำการบินมายังประเทศไทยให้สามารถจัดทำแผนการบินได้

ทั้งนี้ การจัดทำแผนตารางเที่ยวบินดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า รวมถึงให้ทราบถึงความก้าวหน้าการพัฒนาสนามบินที่จะทยอยแล้วเสร็จในปี 2566-2567 สอดคล้องกับการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาที่จะแล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่งตามแผนคาดว่า จะสามารถรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้ประมาณกว่า 200 ล้านคน และมีเที่ยวบินมากกว่า 1,000 เที่ยวบินในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณากลุ่มเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้สอดรับกับการพัฒนาศักยภาพสนามบินที่รองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ รวมถึงพิจารณาว่า มีการดำเนินการส่วนใดบ้างที่เกี่ยวของกับหน่วยงานอื่นหรือไม่ อาทิ กระทรวงการคลัง กรมสรรพสามิต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)