‘ผอ.นิธี’ ชี้เที่ยวใต้รายได้หด 2 แสนลบ. หวังกระตุ้นผ่าน ‘อาหารถิ่น-ความเชื่อ’

หลังจากที่รัฐบาลได้ทำการปลดล็อกระยะที่ 3 เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยให้สถานที่ท่องเที่ยวภายในประเทศสามารถเปิดให้บริการได้ และภาครัฐยังได้ออกมาตราการเพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ‘เราไปเที่ยวด้วยกัน’ ซึ่ง รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายในส่วนของโรงแรม และที่พัก จำนวน 40% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมถึงค่าอาหาร ค่าใช้บริการสถานที่ต่างๆ ในแหล่งท่องเที่ยว อีก 600-900 บาท/คืน และแพ็กเกจ ‘เที่ยวปันสุข’ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบินทุนต่ำในประเทศ โดยรัฐบาลสนับสนุนเงินค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ ภายในประเทศ รถเช่า และรถขนส่งอื่นๆ จำนวน 40% ของราคาค่าตั๋ว แต่ต้องไม่เกิน 1,000 บาท/คน  ทำให้นักท่องเที่ยวในประเทศเริ่มเดินออกเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ แต่ทว่า สถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่ได้รับความนิยมจะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถขับรถไปเองได้ โดยใช้เวลาเฉลี่ยไม่เกิน 3-4 ชั่วโมง เท่านั้น เช่น พัทยา หัวหิน ชะอำ เขาใหญ่ เป็นต้น ขณะที่สถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ในจังหวัดห่างไกลต้องเดินทางโดยเครื่องบิน เช่น สมุย ภูเก็ต เชียงใหม่ เป็นต้น แม้มีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปเที่ยวอยู่บ้าง แต่ถือว่าเป็นจำนวนน้อย ส่งผลให้เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวยังคงซบเซาเช่นเดิม ผู้ประกอบการทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และผู้ให้บริการด้านการนำเที่ยว ไม่สามารถไปต่อได้และบางรายถึงกลับต้องปิดกิจการลงไป

นายนิธี สีแพร ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคใต้

นายนิธี สีแพร ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กล่าวว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีความมุ่งหมายที่จะให้คนไทยหายคิดถึงธรรมชาติ เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศให้กลับมาอีกครั้ง ตามโครงการ คิดถึง…อ้อมกอดธรรมชาติ (Back to Nature) เพื่อกระตุ้นความถี่ในการเดินทางแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้มากขึ้น ประกอบกับที่นักท่องเที่ยวคนไทยยังไม่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศได้นั้น จึงทำให้ ททท. เพิ่มความถี่ในการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ  และในฤดูกาลต่อจากนี้ไปจะเป็นช่วงแห่งการท่องเที่ยวทางท้องทะเลต่างๆ ซึ่งธรรมชาติได้ถูกฟื้นฟู และกลับมาสวยงามอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นฝั่งทะเลอันดามัน ฝั่งทะเลอ่าวไทย ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ไม่มาก ทำให้คนไทยสามารถสัมผัสความงามจากท้องทะเลได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังสามารถเห็นปลาฉลามวาฬ ปลาวาฬ ปลาโลมา เข้ามาแหวกว่ายให้นักท่องเที่ยวชาวไทยได้ชื่นชมกันอีกด้วย รวมถึงปะการังต่างๆ ได้มีการฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์

สำหรับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ภาคใต้ นั้น ขณะนี้ได้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องการท่องเที่ยวที่ยังคงซบเซา โดยได้ทำการโปรโมท การท่องเที่ยว ร่วมกับสายการบิน  โรงแรม และร้านอาหารต่างๆ รวมถึงเร่งสร้างความเข้าใจ และปรับ mindset ของผู้ประกอบการ ให้เข้าใจในพฤติกรรม และความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทย ซึ่งในขณะนี้ถือเป็นกลุ่มหลักที่จะสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มที่โรงแรม ที่พัก และร้านอาหาร โดยขณะนี้นี้กลุ่มผู้ประกอบการต่างๆเริ่มเข้าใจและปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจบ้างแล้ว อย่างในกลุ่ม โรงแรมและที่พักต่างๆ ได้เริ่มปรับลดราคาลงมา ขณะที่เรื่องของอาหารซึ่งอาหารท้องถิ่นจะเป็นอาหารรสจัด ที่นักท่องเที่ยวมีความชื่นชอบ เนื่องจากเป็นอาหารที่ดีกับสุขภาพอุดมไปด้วยสมุนไพร ที่ต้านอนุมูลอิสระ ทั้งแกงเหลือง แกงไตปลาคั่วกลิ้ง อาหารจีนที่เรียกว่าบ้าบ๋าย่าหยา เช่น หมี่ฮกเกี้ยน ยาวเย รวมถึง อาหารมุสลิมไก่กอ ข้าวยำปักษ์ใต้ หรืออาหารทะเลสดๆกุ้งมังกร 7 สี สาหร่ายพวงองุ่น หอยนางรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำมาผสมผสานให้เกิดความกลมกลืนเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อดึงให้นักท่องเที่ยวชาวไทยจากทั่วประเทศเดินทางเข้ามาสัมผัสความสวยงามและความอิ่มอร่อยในรสชาติของอาหารใต้

นอกจากนี้ เรื่องของความเชื่อ ความศรัทธา จะเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่จะนำมาช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันวัดเจดีย์ หรือวัดไอ้ไข่ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้คนจากทั่วประเทศเดินทางเข้ามากราบไหว้ ขอพรจากไอ้ไข่ เป็นจำนวนมาก ซึ่งทาง ททท.ภาคใต้ จึงได้เตรียมจัดทำเส้นทางท่องเที่ยว 5 พระธาตุ เมืองใต้ รวมถึงตามรอยหลวงพ่อทวด และทำการเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวต่อเนื่องจาก วัดไอ้ไข่ ไปสู่ สิชล และขนอม หรืออาจข้ามไปจนถึง สมุย ทั้งนี้เพื่อให้เห็นว่า สถานที่ท่องเที่ยวของภาคใต้มีความหลากหลาย และมีความเชื่อมโยงกันในทุกจังหวัด ขณะเดียวกันยังมีแผนที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยวของคนในจังหวัดต่างๆทางภาคใต้ ให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวข้ามจังหวัดเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในการเดินทางท่องเที่ยว เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี และเกิดการกระจายรายได้สู่ทุกจังหวัด สำหรับปี 63 นี้ยอมรับว่าอัตราการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจท่องเที่ยวลดลงไปกว่า 50% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นรายได้การท่องเที่ยวภาคใต้จนถึงสิ้นปีคาดอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยจะอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคน ลดลงไปจากปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 25 ล้านคน