‘บิ๊กตู่’ เอ่ยปากชม ‘คมนาคม’ วางแผนก่อนเริ่ม 2 โปรเจ็กต์บนถนนพระราม 2 ด้าน ‘ศักดิ์สยาม’ แย้มข่าวดีชะลอขึ้นค่ารถไฟฟ้า-ฟรีมอเตอร์เวย์วันหยุดยาว

“บิ๊กตู่” เอ่นปากชม “คมนาคม” วางแผนก่อนเริ่ม 2 โปรเจ็กต์บนถนนพระราม 2 ด้าน “ศักดิ์สยาม” บอกข่าวดี “ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน” BEM ยังไม่ขึ้นค่าโดยสารถึงสิ้นปีนี้ หลังจะครบกำหนดปรับราคา 3 ก.ค. 63 หวังบรรเทาภาระ ปชช. พ่วงเฮ! ฟรีมอเตอร์เวย์ 3-8 ก.ค. นี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (30 ก.ค. 2563) ว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ชื่นชมการทำงานของกระทรวงคมนาคม ในการเตรียมความพร้อมก่อนการดำเนินการก่อสร้าง 2 โครงการบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ที่จะเริ่มในวันที่ 8 ก.ค. 2563 ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางยกระดับพระราม 2สาย ธนบุรี-ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ของกรมทางหลวง และโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก (สัญญาที่ 2) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา การเปิดพื้นที่ก่อสร้างไม่สอดคล้องกับการทำงาน และสภาพการจราจร

นอกจากนี้ ครม. มีมติเห็นชอบการจัดเก็บค่าโดยสารตามร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสาร ตามสัญญาโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ซึ่งเป็นไปตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เสนอ

สำหรับการปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) นั้น เป็นไปตามสัญญาสัมปทานทุก 2 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 3 ก.ค. 2563 ซึ่งเป็นครั้งที่ 9 นับตั้งแต่เปิดให้บริการ โดยเมื่อพิจารณาตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) ของกระทรวงพาณิชย์ทุก 2 ปีแล้วนั้น พบว่าจะมีจำนวน 4 สถานีที่ต้องปรับขึ้นค่าโดยสารใหม่ในอัตรา 1 บาท ตามเงื่อนไขสัญญา ได้แก่ 1.สถานีเตาปูน ราคา 16 บาท ปรับขึ้นเป็น 17 บาท 2.สถานีสวนจตุจักร ราคา 23 บาท ปรับขึ้นเป็น 24 บาท 3.สถานีรัชดาภิเษก ราคา 30 บาท ปรับขึ้นเป็น 31 บาท และ 4.สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ราคา 37 บาท ปรับขึ้นเป็น 38 บาท

ทั้งนี้ รฟม.ได้เจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทาน ซึ่งเอกชนได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา เสนอชะลอการปรับขึ้นค่าโดยสารออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 เนื่องจากประเทศไทยได้เผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อเป็นการเยียวยา และแบ่งเบาภาระของประชาชน จึงยังคงใช้อัตราค่าโดยสารเดิม อย่างไรก็ตาม เมื่อครบกำหนดช่วงสิ้นปี 2563 จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งต่อไป

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังมีมติอนุมัติให้กรมทางหลวง (ทล.) ออกประกาศกฎกระทรวงยกเว้นค่าผ่านทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 กรุงเทพ–ชลบุรี–พัทยา และส่วนต่อขยายพัทยา-มาบตาพุด รวมถึงหมายเลข 9 บางปะอิน–บางพลี และพระประแดง–ต่างระดับบางขุนเทียน โดยจะมีผลตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 3 ก.ค. จนถึงเวลา 24.00 น. วันที่ 8 ก.ค. 2563 เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางช่วงวันหยุดยาวแก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า กรมทางหลวงจะสูญเสียรายได้รวมประมาณ 150 ล้านบาท แต่มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ

ขณะที่ การดำเนินงาน และบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา วงเงิน 33,258 ล้านบาท และหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงิน 27,828 ล้านบาทนั้น ยังไม่มีการบรรจุวาระ ครม. เนื่องจากเลขา ครม. แจ้งว่า จะต้องมีการสอบถามความเห็นส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ทั้งนี้ ภายหลังผ่าน ครม. แล้วจะลงนามสัญญากับเอกชนทันที

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า โครงการ O&M รัฐได้ประโยชน์ และสามารถประหยัดงบประมาณได้หมื่นกว่าล้านบาท เพราะกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ ได้ยื่นข้อเสนอขอรับค่าตอบแทนจากภาครัฐต่ำสุด และต่ำกว่าราคากลางประมาณ 30% ได้แก่ มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา เสนอราคาต่ำสุดวงเงิน 21,329 ล้านบาท จากราคากลาง 33,258 ล้านบาท ส่วนมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี เสนอต่ำสุด 17,809 ล้านบาท จากราคากลาง 27,828 ล้านบาท