‘ทางหลวงฯ’ เปิด 19 เส้นทาง 26 ช่วง ระยะทาง 150 กม. ลุยโปรเจ็กต์ปี 63 ใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต

ทล. เปิดแผนปี 63 ลุยสตาร์ทโปรเจ็กต์แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต-เสาหลักนำทาง 19 เส้นทาง 26 ช่วง ระยะทาง 150 กม. ด้าน “ปลัดคมนาคม” เตรียมลงพื้นที่ จันทบุรี-สตูล ต้น ก.ค.นี้ เร่งถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตให้สหกรณ์ชุมชน

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของ ทล.ในการดำเนินการแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier: RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) ว่า ตามแผนงานในปี 2563 นั้น ทล. มีความต้องการใช้เสาหลักนำทาง จำนวน 89,000-90,000 ต้น ซึ่งต้องผลิตให้แล้วเสร็จภายใน ก.ย. 2563 นี้ ขณะที่แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต จะดำเนินการบนถนน 19 สายทาง 26 ช่วง ใน 13 จังหวัด ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 1,154 ล้านบาท จากถนนที่มีอยู่ในแผน 3 ปี (2563-2565) รวมระยะทาง 1,029 กิโลเมตร เบื้องต้นจะดำเนินการบนถนนที่เป็นเกาะสี และถนนที่มีเกาะเป็นร่องกลาง เน้นเลือกเส้นทางที่มีสถิติอุบัติเหตุสูง รวมถึงดำเนินการเกาะกลางถนนที่เป็นเกาะยก ที่มีสภาพความไม่ปลอดภัย เพื่อป้องกันอันตรายรถเสียหลัก อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่มีการรื้อเกาะเดิมอย่างแน่นอน

สำหรับการดำเนินการแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีตบนถนน 19 สายทาง 26 ช่วง ได้แก่

  1. จ.พิจิตร ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 113 ตอนเขาทราย-ฆะมัง ตอน 1 กม.ที่ 90+675- 92+925 ระยะทาง 2.250 กม.
  2. สงขลา ทล. 408 ตอนทุ่งหวัง-นาทวี กม.ที่ 182+261-190+800 ระยะทาง 1.100 กม.
  3. นครนายก ทล. 3049 ตอนนครนายก-น้ำตกนางรอง กม.ที่ 0+430-1+530 และ กม.ที่ 3+085-4+185 ระยะทาง 2.200 กม.
  4. หนองบัวลำภู ทล. 228 ตอนห้วยสายหนัง-ศรีบุญเรือง กม.ที่ 52+900-53+984 ระยะทาง 1.084 กม.
  5. พิจิตร ทล. 1067 ตอนหอไกร-สี่แยกโพธิ์ไทรงาม กม. ที่ 7+100-15+500 ระยะทาง 8.400 กม.
  6. พิษณุโลก ทล. 12 ตอนวังทอง-เข็กน้อย กม. ที่ 280+755-289+277 ระยะทาง 8.522 กม.
  7. บุรีรัมย์ ทล. 219 ตอนหัวถนน-บุรีรัมย์ กม.ที่ 128+082-135+880 ระยะทาง 7.798 กม.
  8. ขอนแก่น ทล. 208 ตอนท่าพระ-หนองสะพัง กม.ที่ 1+050-9+950 ระยะทาง 8.900 กม.
  9. นครนายก ทล. 3222 ตอนเขาเพิ่ม-บ้านนา กม.ที่ 26+219-37+653 ระยะทาง 11.434 กม.
  10. นครศรีธรรมราช ทล. 4305 ตอนทุ่งสง-จำปา กม.ที่ 2+750-6+000 ระยะทาง 3.250 กม.
  11. สุราษฎร์ธานี ทล. 4009 ตอนเวียงสระ-บางสวรรค์ กม.ที่ 65+350-74+000 ระยะทาง 3.659 กม.
  12. นครศรีธรรมราช ทล. 4110 ตอนทุ่งสง-ทุ่งใหญ่ กม.ที่ 0+667-4+850 ระยะทาง 4.183 กม.
  13. เชียงใหม่ ทล. 1317 ตอนสันกลางใต้-ห้วยแก้ว กม.ที่ 5+000-16+500 ระยะทาง 11.500 กม.
  14. พิจิตร ทล. 113 ตอนเขาทราย-ฆะมัง ตอน 2 กม.ที่ 92+975-95+385 ระยะทาง 2.410 กม.
  15. หนองบัวลำภู ทล. 228 ตอนวังหมื่น-หนองบัวลำภู กม.ที่ 85+184-85+884 ระยะทาง 0.700 กม.
  16. หนองบัวลำภู ทล. 210 ตอนนาคำไฮ-วังสำราญ กม.ที่ 81+698-84+350 ระยะทาง 2.652 กม.
  17. ขอนแก่น ทล. 2146 ตอนหนองบัวลำภู-เขื่อนอุบลรัตน์ กม.ที่ 9+353-10+490 ระยะทาง 1.137 กม.
  18. ขอนแก่น ทล. 2038 ตอนห้วยน้ำเงิน-เมืองใหม่ กม.ที่ 18+050-18+475 ระยะทาง 0.425 กม.
  19. บุรีรัมย์ ทล. 219 ตอนสตึก-หัวถนน กม.ที่ 108+600-128+082 ระยะทาง 19.482 กม.
  20. ลพบุรี ทล. 205 ตอนบ้านหมี่-ดงพลับ กม.ที่ 5+340-10+371 ระยะทาง 5.031 กม.
  21. สระบุรี ทล. 3022 ตอนพระพุทธบาท-ท่าเรือ กม.ที่ 0+500-10+000 ระยะทาง 13.100 กม.
  22. นครนายก ทล. 3049 ตอนนครนายก-น้ำตกนางรอง กม.ที่ 4+185-18+250 ระยะทาง 14.065 กม.
  23. พระนครศรีอยุธยา ทล. 3263 ตอนอยุธยา-ไผ่กองดิน กม.ที่ 0+000-0+300 ระยะทาง 3.760 กม
  24. นครศรีธรรมราช ทล. 4110 ตอนทุ่งสง-ทุ่งใหญ่ กม.ที่ 0+667-4+850 ระยะทาง 4.183 กม.
  25. นครศรีธรรมราช ทล. 4116 ตอนโคกบก-บ่อน้ำร้อน กม.ที่ 0+112-3+143 ระยะทาง 3.031 กม.
  26. สงขลา ทล. 408 ตอนนาทวี-ด่านประกอบ (เขตแดนไทย/มาเลเซีย) กม.ที่ 218+385-232+925 ระยะทาง 14.540 กม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ประชุมหารือเตรียมความพร้อมการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลง เรื่องอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยจากยางพารา ด้วยการนำน้ำยางพาราของเกษตรกรไทย มาใช้ผลิตแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ ตามกรอบแผนงานที่ดำเนินการระยะเวลา 3 ปี (‪2563-2565‬)

ทั้งนี้ แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ จะนำมาใช้ถนนของ ทล. และ ทช. กว่า 12,000 กม. วงเงินประมาณ 85,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ถนนของ ทล. ประมาณ 11,000 กม. และถนนของ ทช. ประมาณ 1,000 กม. และหลักนำทางยางธรรมชาติ จำนวน 1,063,651 ต้น สำหรับความคืบหน้าล่าสุดนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมบัญชีกลาง ที่กระทรวงคมนาคมได้ส่งเรื่องไปตั้งแต่ช่วงต้น มิ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถซื้อโดยตรงกับเกษตรกรโดยไม่ผ่านคนกลางได้ รวมถึงกระทรวงเกษตรฯ จะต้องปรับแก้ไขกฎกระทรวงฯ เพิ่มยางพาราเข้าไปในสินค้าประเภทเฉพาะเจาะจง เพื่อสามารถซื้อตรงได้

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมมีความพร้อมเรื่องของงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการ ซึ่งการประชุมระหว่างปลัดกระทรวงคมนาคมและปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในครั้งดังกล่าว ได้สอบถามความพร้อมของกระทรวงเกษตรฯ เกี่ยวกับปริมาณยางพาราที่จะส่งมอบเพื่อดำเนินการตามแผนการใช้ของกระทรวงคมนาคมในระยะเวลา 3 ปีด้วย นอกจากนี้ ทล. และ ทช. จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยจะคัดเลือกบุคลากรเข้าไปถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับสหกรณ์ชุมชน พร้อมกับควบคุม คุณภาพ เบื้องต้นมีสหกรณ์ชุมชนที่มีความพร้อม 6 แห่ง และหากมีความต้องการเพิ่มขึ้นจะมีสหกรณ์ชุมชนมาร่วมดำเนินการเพิ่มเติมอีกประมาณ 3 แห่ง ขณะเดียวกัน ในช่วงต้นเดือน ก.ค. 2563 นี้ ปลัดกระทรวงคมนาคม จะมีการลงพื้นที่ จ.จันทบุรี เพื่อติดตามความคืบหน้าการผลิตแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ และ จ.สตูล ติดตามการผลิตเสาหลักนำทาง