‘คมนาคม’ ลุยเพิ่มประสิทธิภาพขนส่งราง 30% ขนสินค้า 13.26 ล้านตันภายในปีหน้า-เปิดทางเอกชนร่วมดำเนินการ หวังดัน ‘การรถไฟฯ’ ยักษ์ใหญ่ด้านการขนส่ง

“ศักดิ์สยาม” เร่งเครื่องเพิ่มประสิทธิภาพขนส่งทางราง 30% ภายในปี 64 หวังขนสินค้า 13.26 ล้านตัน สั่ง สนข.-รฟท.-ขร. จัดทำ Action Plan แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ดัน “การรถไฟฯ” ยักษ์ใหญ่ด้านการขนส่ง พร้อมเปิดทางให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการ จ่อชง “บิ๊กตู่” เร่งไฟเขียวออกกฎฯ ต่อไป

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมการพัฒนาระบบรางเป็นรถไฟทางคู่ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางราง 30% และการสนับสนุนเอกชนร่วมบริการระบบรางว่า จากระบบโครงสร้างพื้นฐานทางรางที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงการพัฒนาในอนาคตของการรถไฟฯ นั้น เชื่อว่าเป็นโอกาสของการรถไฟฯ ที่จะเป็นระบบขนส่งหลัก พร้อมทั้งการพัฒนาระบบการขนส่ง โดยการนำสินค้าที่ขนส่งทางบกในปัจจุบัน เปลี่ยนมาขนส่งทางรางเพิ่มขึ้น 30% พร้อมทั้งการใช้ศักยภาพทางรางที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการ

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ไปจัดทำแผนปฏิบัตการ (Action Plan) กำหนดความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน และกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ โดยจัดทำแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ขณะที่การให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการทางรถไฟนั้น ในส่วนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ยังไม่ได้ออกกฎให้เอกชนสามารถเข้ามาร่วมดำเนินการได้ โดยตนจะนำเสนอเรื่องดังกล่าว ให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นปะธาน เร่งพิจารณา ก่อนที่จะดำเนินการต่อไป

“ลำพังศักยภาพของการรถไฟฯ ในขณะนี้ ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ ถ้าให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการ จะช่วยเสริมประสิทธิภาพมากขึ้น มีการแข่งขันเป็นธรรม โดยจะเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพการให้บริการ ขณะเดียวกัน หลังจากนี้ ผู้ประกอบการขนส่งทางบก ต้องมาเป็นพาร์ทเนอร์กับการรถไฟฯ เอาตู้คอนเทนเนอร์ เข้ามาอยู่บนแคร่ แล้วไปรอรับปลายทาง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งเร็วขึ้นด้วย โดยตอนนี้การรถไฟฯ เหมือนเป็นยักษ์หลับ เราต้องปลุกยักษ์หลับให้ตื่น ลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้จริงจัง เพื่อเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการขนส่งในอนาคต ทั้งในส่วนของสินค้า และผู้โดยสารที่ตอนนี้ ก็มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ประชาชนนจะเยอะในช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่ในเวลาปกติ ประชาชนไม่ใช้ เพราะ สภาพรถเก่า บางคันมีอายุ 30 ปี เนื่องจากการรถไฟฯ ขาดทุน เป็นหนี้สะสมประมาณ 1.6 แสนล้าน น้องๆ การบินไทย 2.4 แสนล้าน” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้น 30% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 13.26 ล้านตัน ภายในปี 2564 จากในปี 2561 ขนส่งสินค้าทางรถไฟ 10.21 ล้านตัน ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มีการเดินรถไฟสินค้า 156 ขบวนต่อวัน โดยในปี 2562 ภาพรวมการขนส่งสินค้าอยู่ที่ 10.50 ล้านตัน หรือคิดเป็น 1% เมื่อเทียบกับทุกระบบการขนส่ง ซึ่งถือว่าใช้ศักยภาพรางต่ำมาก จึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเพื่อเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรถไฟ คือ จะต้องพัฒนาทางคู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินรถ ทั้งเรื่องความจุทาง และความปลอดภัย รวมถึงการติดตั้งระบบควบคุมการเดินรถ โดยเร่งติดตั้งระบบควบคุมการวิ่งขบวนรถ และการหยุดรถอัตโนมัติ

นอกจากนี้ ต้องสนับสนุนภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการเดินรถ เพื่อเพิ่มความถี่ของบริการ เพิ่มประสิทธิภาพด้านการตลาด และให้เกิดการแข่งขันด้านการให้บริการและราคา รวมถึงส่งเสริมการใช้ประโยชน์ย่านกองเก็บตู้สินค้า (CY) พร้อมทั้งการใช้มาตรการทางการเงิน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของการขนส่งทางราง เช่น การให้ Carbon Credit แก่ผู้ประกอบการที่ใช้การขนส่งทางราง สามารถนำไปลดหย่อนภาษี อีกทั้ง จะต้องพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเดินรถ เนื่องจากในปัจจุบัน บุคลากรขับรถไฟมีไม่เพียงพอ เช่นเดียวกันกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จึงได้สั่งการให้การรถไฟฯ ไปดำเนินการขยายโรงเรียนเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการเดินรถ อาทิ ช่างเครื่อง พนักงานขับรถ

สำหรับในปัจจุบัน ประเทศไทยมีทางรถไฟทางเดี่ยว ระยะทาง 4,044 กิโลเมตร (กม.) ครอบคลุมพื้นที่ 47 จังหวัด แบ่งเป็น สายเหนือ 781 กม., สายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 1,094 กม., สายตะวันออก 534 กม., สายแม่กลอง 65 กม. และสายใต้ 1,570 กม. ในส่วนโครงการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ตามแผนพัฒนาทางคู่ ระยะที่ 1 รวม 9 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,671 กม. นั้น ขณะนี้ ก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการไปแล้ว 2 เส้นทาง ได้แก่ 1. ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า – แก่งคอย ระยะทาง 106 กม. และช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น ระยะทาง 187 กม.

นอกจากนี้ ที่เหลืออีก 5 เส้นทาง อยู่ระหว่างก่อสร้าง คือ 3.มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม.4.ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม.5.นครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กม.6.ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม.7. ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. ขณะที่เส้นทางสายใหม่ 2 สายอยู่ระหว่างประกวดราคา คือ 8.เดินชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม.และ9. บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม.

ขณะที่โครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 7 สาย ระยะทางรวม 1,483 กม.วงเงิน 272,219.14 ล้านบาท อยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติโครงการ ประกอบด้วย 1. สายขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 176 กม.วงเงินก่อสร้าง 26,668.36 ล้านบาท2. สายชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง308กม. วงเงิน 37,527.10 ล้านบาท3.สายปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง285 กม.วงเงิน 62,859.74ล้านบาท 4.สายเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง189 กม. วงเงิน 56,837.78 ล้านบาท 5.ชุมพร – สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม.วงเงิน 24,294 ล้านบาท, 6.สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม.วงเงิน 57,375.43 ล้านบาท และ7.ชุมทางหาดใหญ่–ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม.วงเงิน 6,661.37 ล้านบาท