‘ศักดิ์สยาม’ นำทัพ ‘คมนาคม ยูไนเต็ด’ บุก ‘เกาหลี’ 21-23 ก.พ. 63 พร้อมลุยปฏิบัติภารกิจเพื่อชาติ

“ศักดิ์สยาม” นำทัพ “คมนาคม ยูไนเต็ด” บุก “เกาหลี” 21-23 ก.พ. 63 พร้อมลุยปฏิบัติภารกิจเพื่อชาติ

 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 21-23 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวงคมนาคม นำทัพพร้อมด้วย นายสราวุธ​ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง​ (ทล.) นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) นายชยธรรม์​ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ผู้แทนจาก ทล., สนข.​ และผู้แทนกองการต่างประเทศ​ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม​ เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญของกระทรวงคมนาคม

สำหรับภารกิจการเดินทางในครั้งนั้น มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOC) ด้านการขนส่งทางถนน กับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่งแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (MOL), การทดสอบการรับแรงกระแทกของคอนกรีตแบริเออร์หุ้มยางพารา​ (Rubber Fender Barrier) ณ สถาบัน KATRI (Korea Automobile Testing & Research Institute)​ และเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมจราจร (Traffic Center) ภายใต้การบริหารจัดการโดยการทางพิเศษ

ทั้งนี้ทั้งนั้น หลายคนให้คำกล่าวไว้ว่า “การเดินไปเกาหลีของผู้บริหารกระทรวงคมนาคมนั้น ถือเป็นการเสี่ยงตายเพื่อประเทศชาติ” สืบเนื่องจากในห้วงเวลานั้น อยู่ในสภาวะวิกฤตของการแพร่ระบาดเชื่อไวรัสโควิด-19 ที่หลายประเทศทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน ไม่เว้น “เกาหลี” ที่ยังอยู่ในสถานการณ์เฝ้าระวัง แต่ด้วยภารกิจเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนของการคมนาคมไทยนั้น “นายศักดิ์สยาม” จึงไม่หวั่นแม้อาจจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าว เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วง

 

*** ประเดิมวันแรก MOC การขนส่งทางถนน ***

สำหรับสาระสำคัญของ MOC ดังกล่าวนั้น เป็นการพัฒนาแผนงานและโครงการด้านการขนส่งทางถนน ที่ฝ่ายไทยและฝ่ายเกาหลีมีความสนใจร่วมกัน โดยเป็นกลไกที่จะช่วยส่งเสริมโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของคมนาคม เพื่อเพิ่มศักยภาพโครงข่ายและระบบการขนส่งทางถนนของประเทศไทย ครอบคลุมถึงโครงการต่างๆ ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร 2.ระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ 3.โครงการทางด่วนใต้ดิน 4.โครงการพัฒนาจุดพักรถ (Rest Area) 5.ระบบขนส่งอัจฉริยะสำหรับการขนส่งทางถนน และ 6.ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รวมถึงอาจพิจารณาขอบเขตความร่วมมืออื่นๆ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายตัดสินใจร่วมกัน

ขณะที่รูปแบบของความร่วมมือ ประกอบด้วย 1.การแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และการวิจัย 2.การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การให้คำปรึกษา การช่วยเหลือทางวิชาการในขั้นตอนเตรียมการโครงการ 3.การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี 4.การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ 5.การจัดประชุมกิจกรรม การสัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการและการประชุมรูปแบบอื่นๆ 6.โครงการฝึกอบรมต่างๆ 7.โครงการนำร่อง และ 8.การส่งเสริมการร่วมลงทุนจากภาคเอกชน นอกจากนี้ อาจพิจารณารูปแบบความร่วมมืออื่นๆ ที่ทั้งสองฝ่ายตัดสินใจร่วมกัน

นอกจากนี้ ยังมีการหารือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ฝ่ายเกาหลีมีความเชี่ยวชาญ สอดคล้องกับการดำเนินงาน และภารกิจของรัฐบาลไทย อาทิ 1.ด้านการพัฒนาโครงข่ายระบบการขนส่งทางถนน 2.การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมความปลอตภัย (การทดสอบมาตรฐานรับแรงกระแทกด้วยแผ่นยางพาราครอบแบริเออร์) และ 3.การบริหารจุดพักรถพื้นที่เชิงพาณิชย์อย่างผสมผสานตามสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์

 

*** ใกล้ความจริง “Rubber Fender Barrier “ชาวสวนยางเตรียมเฮ!” ***

คุ้มสุดๆ สำหรับการเดินทางไปเกาหลีนั้น ภารกิจสำคัญ คือ การทดสอบการรับแรงกระแทกของคอนกรีตแบริเออร์หุ้มยางพารา​ ใช้รถกระบะน้ำหนัก 2,000 กิโลกรัม ขับเคลื่อนแบบไร้คนขับ​ โดยควบคุมด้วยระบบคลื่นแม่เหล็ก ด้วยความเร็วในการชน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงมุมชน 20 องศา ตามมาตรฐาน EN13146-3 (Euro Code)

โดยผลการทดสอบออกมาแล้วว่า สามารถทำให้รถกระบะแฉลบไปตามแนว Rubber Fender Barriers ซึ่งโดยปกติการชนในลักษณะนี้ด้วยความเร็วที่ทดสอบกับแบริเออร์คอนกรีตที่ไม่ได้หุ้มยางพาราจะชนทะลุแท่งคอนกรีต มีค่าระยะการร่นของแบริเออร์ที่อยู่ในระยะปลอดภัยต่อผู้ขับขี่ (ตามหลักการทดสอบที่ปลอดภัยการชนในลักษณะนี้ต้องมีระยะการร่นที่ไม่เกิน​ 1​ เมตร​ จากเส้นจราจร​ ผลการทดสอบครั้งนี้ทดสอบได้ระยะร่นเพียง​ 50​ เซนติเมตร)

นอกจากนี้ ยังสามารถรับแรงกระแทกได้ดีโดยหุ่น dummy ในรถกระบะไม่กระเด็นเปลี่ยนทิศทาง (รับแรงกระแทกน้อยกว่า​ 60g) ซึ่งค่ามาตรฐานในการรับแรงกระแทกจากตัวรถมายังคนขับที่ปลอดภัยตามหลักสากลไม่ควรสูงกว่า 60g โดยการทดลองฯ วัดค่าจากอุปกรณ์ sensors ที่ติดตามหุ่น dummy (ภายใต้การคาดเข็มขัดนิรภัย) ซึ่งในส่วนของแผ่นยางบนแท่งคอนกรีต​นั้น เสียหายเพียง 4 แผ่น​ บางแผ่นสามารถนำกลับมาใช้งานได้ใหม่ ซึ่งปกติแผ่นยางจะหลุดเพราะการชนทำให้เกิดแรงเฉือนมากกว่า 3 ตันต่อตารางเมตร แต่ครั้งนี้ทีมงานวิจัยได้พัฒนารูปแบบการติดตั้ง Rubber Fender Barriers โดยใช้กาว epoxy ติดแผ่นยางกับแบริเออร์ ทำให้แผ่นยางติดแน่นและมีอายุการใช้งานมากกว่า 5​ ปี (จากผลการทดลองการเร่งสภาวะ ในห้องปฏิบัติการของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย)

ในส่วนของรถยนต์เสียหายด้านชนเพียงด้านเดียว และไม่พลิกคว่ำ รถไม่เหินข้าม​ Rubber Fender Barriers เหมือนแบริเออร์ประเภทอื่น ซึ่งตัวรถจะได้รับความเสียหายมากกว่าเมื่อเกิดการชน โดยการทดสอบการชนฯ จะสามารถนำมาต่อยอดการพัฒนา Rubber Fender Barriers ต่อไปในอนาคตอันใกล้ ถือเป็นเรื่องที่ดีในการช่วยเหลือชาวเกษตรกรสวนยางพารา

อย่างไรก็ตาม การนำผลิตผลของยางพารามาสนับสนุนโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางถนนของกระทรวงคมนาคมนั้น สามารถช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและปลอดภัย รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนระบบเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะลงนามบันทึกความเข้าใจกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไปในอนาคต เพื่อให้มั่นใจว่าเกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับรายได้จากการผลิตและจำหน่าย Rubber Fender Barriers  จากภาครัฐโดยตรง​ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

 

*** เยี่ยมชม “ศูนย์ควบคุมจราจร” แดนกิมจิ ***

ต้องบอกว่า “เกาหลี” ถือเป็นอีก 1 ประเทศในภูมิภาค ที่มีการบริหารจัดการจราจรที่มีประสิทธิภาพ งานนี้ “นายศักดิ์สยาม” จึงได้นำทีม “คมนาคม ยูไนเต็ด” เข้าเยี่ยมชม “ศูนย์ควบคุมจราจร” ที่มีจุดเด่นด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทันสมัย ประกอบกับ นวัตกรรมระบบขนส่งอัจฉริยะ (ITS) มาสนับสนุนการดำเนินงานในการบริหารจัดการปัญหาจราจร บังคับใช้กฎหมาย และเฝ้าระวังแจ้งเตือนพร้อมกับสนุนเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ฉุกเฉิน ภายในศูนย์ฯ​ มีจอภาพขนาดใหญ่แสดงภาพจากกล้องวงจรปิดตามจุดต่าง​ ๆ​ บนทางด่วน​ ซึ่งมีการติดตั้งทุกระยะ 2 กิโลเมตร ซึ่งกล้องวงจรปิดสามารถสังเกตการณ์ได้ 360 องศา ซูมดูรายละเอียดได้ในระยะรัศมีทำการ 1 กิโลเมตร เชื่อมต่อข้อมูลผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสง

นอกจากนี้ มีติดตั้งระบบตรวจจับ (Sensor) ภายใต้พื้นผิวจราจร เพื่อเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้อง​มาประมวลผลวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อมูลความหนาแน่นของรถและสภาพการจราจร​ทั่วไปที่เป็นปัจจุบัน (Realtime) ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจตราความเรียบร้อยและแก้ปัญหาอุบัติเหตุ​ รวมถึงสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง​ๆ​ อย่างมีประสิทธิภาพ​ ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยประสานและบูรณาการข้อมูลร่วมกับทางหลวงท้องถิ่นและตำรวจ เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน การทำงานของศูนย์ฯ เป็นตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน และลดงบประมาณรายจ่ายด้านบุคคลากรได้เป็นจำนวนมาก

ในส่วนของระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษแบบ Hi-pass Multi-Lane Free Flow (MLFF) นั้น ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับระบบ​ Easy​ Pass ของไทย​ แต่มีความทันสมัยกว่าเนื่องจากมีการติดตั้งอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณที่มีความแม่นยำ​ ไม่มีไม้กั้น​ และมีช่องจราจรตั้งแต่​ 2​ ช่องจราจรขึ้นไป สามารถรับข้อมูลได้ ณ อัตราความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งระบบจะไม่เก็บข้อมูลซ้ำซ้อนในกรณีที่รถเปลี่ยนช่องจราจรขณะเข้า​ด่านเก็บค่าผ่านทาง จึงสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดหรือรถชะลอตัวขณะเข้าด่านฯ​ และลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ โครงการจุดพักรถ-พื้นที่เชิงพาณิชย์นั้น มีการจัดสรรพื้นที่ในรูปแบบศูนย์การค้าชุมชน​ (Community Mall)​ เชื่อมโยงผู้ใช้บริการทางด่วนและชุมชนทั้ง 2 ฝั่ง ประกอบด้วย สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง​ๆ​ ที่ผสมผสานเอกลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้ด้วยกัน เป็นการพัฒนาจุดพักรถและบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบใหม่ที่มีพื้นที่จำกัด​ ซึ่งประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่จุดพักรถเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด​และใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าที่สุด

… งานนี้ ต้องขอปรบมือรัวๆ สำหรับความมุ่งมั่นของ “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ในการพัฒนาการคมนาคมไทย ให้มีประสิทธิภาพรุดหน้าขึ้นชั้นนำของภูมิภาค …