‘อธิรัฐ’ บุก ‘การท่าเรือฯ’ สั่งเข้มมาตรการ PM 2.5-ป้องกันไวรัสโคโรนา สั่งคัดกรองเรือทุกลำ 100% พร้อมเร่งโปรเจ็กต์ Smart Community ลุยหาผู้รับจ้างภายในปีนี้

“อธิรัฐ” ตรวจการบ้าน กทท. วางมาตรการ PM 2.5-แนวทางป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา สั่งคัดกรองเรือทุกลำ 100% พร้อมส่งรายงานเทียบท่าย้อยหลัง ฟากโปรเจ็กต์ Smart Community เร่ง กทท.รับฟังเสียง ปชช. ก่อนเคาะสรุปแนวทางภายใน 3 เดือน-หาผู้รับจ้างภายในสิ้นปีนี้

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานและมอบนโยบายการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ว่า ในวันนี้ (31 ม.ค. 2563) ได้เดินทางไปตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาของ กทท. พร้อมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมอบหมายให้ กทท.ดำเนินการตรวจคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าในเรือทุกลำ 100% ในทุกช่องทาง (ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือระนอง ท่าเรือเชียงแสน และท่าเรือเชียงของ) ซึ่งจากเดิมที่ตรวจแต่เฉพาะเรือที่มาจากพื้นที่เสี่ยงเท่านั้น นอกจากนี้ ให้เรือทุกลำส่งรายงานการเทียบท่าย้อนหลัง 10 ท่าฯ เพื่อประเมินความเสี่ยง

ทั้งนี้ ในส่วนท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ให้ตั้งจุดคัดกรองเรือเพิ่มเติมที่บริเวณ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ หากพบผู้อาจติดเชื้อ จะไม่อนุญาตให้เรือลำดังกล่าวเข้ามาในเขตกรุงเทพฯ จนกว่าจะมีการพิสูจน์โรคแน่ชัดว่าปลอดภัย ขณะที่ ท่าเรือเชียงแสน กำชับให้ตรวจอย่างเข้มงวด เนื่องจากเรือส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน 

นายอธิรัฐ กล่าวต่ออีกว่า ให้ กทท.เร่งดำเนินโครงการ Smart Community โดยให้ปรับรูปแบบช่องทางการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน จำนวน 12,000 ครัวเรือน ทั้งในทางช่องทาง Internet (online) และช่องทาง Social media โดยกำหนดทางเลือกไว้ 3 แนวทาง คือ 1.ให้อยู่อาศัยใน Smart Community 2.ให้ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ที่เขตหนองจอก และ 3.ให้เงินชดเชยเพื่อกลับภูมิลำเนา ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และในส่วนของขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างนั้น การจัดหาผู้รับจ้างจะต้องเริ่มดำเนินการได้ภายในสิ้นปี 2563 นอกจากนี้ ให้ กทท.จัดทำแผนเพิ่มรายได้ของการท่าเรือ โดยเฉพาะท่าเรือภูมิภาค รวมทั้งให้พิจารณาอัตราค่าเช่าสินทรัพย์ และพื้นที่การท่าเรือให้เหมาะสมกับปัจจุบัน

รายงานข่าวจาก กทท. ระบุว่า นายอธิรัฐ ยังได้ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาของ กทท. ในโครงการต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยกเลิกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของกลุ่ม NCP ทำให้คำตัดสินของคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นอันถูกต้องและสามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปได้แล้ว

ขณะเดียวกัน มอบนโยบายให้ กทท. พิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการบริหารทรัพย์สิน อาคาร ที่ดิน ให้เกิดมูลค่าและประโยชน์ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ พร้อมทั้งเร่งรัดการดำเนินการโครงการ Smart Community ให้เป็นไปตามแผนและให้วางแผนการดำเนินการในอนาคต ในการบริหารงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นด้วย

ในส่วนปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 นั้น กทท. ได้ดำเนินมาตรการป้องกันคุณภาพอากาศทั้ง ทกท. และ ทลฉ. มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาดังกล่าว ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยของพนักงาน กทท. ผู้ใช้บริการ กทท. และชุมชนใกล้เคียง รวมทั้งรักษาสภาพแวดล้อม เพื่อให้สภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไม่เป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5 จากกิจกรรมการดำเนินงานของ กทท. โดยนายอธิรัฐให้จัดหาเครื่องมือ และอุปกรณ์สำหรับฉีดพ่นละอองน้ำ เพื่อลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในพื้นท่าเรือ และทุกประตูเข้า-ออก รวมทั้งจัดหารถโมบายสำหรับฉีกพ่นละอองน้ำในพื้นที่ และบริเวณชุมชนโดยรอบท่าเรือโดยเร่งด่วน