‘ถาวร’ บุกตามงาน ‘บินไทยฯ’ ขีดเส้นยุติค่าเสียหาย Roll&Royce ก.พ.นี้ พร้อมเตรียมลดจ้าง Out Source 1 หมื่นคน หวังหั่นค่าใช้จ่ายลง

“ถาวร” ตามงาน “บินไทยฯ” พร้อมร่วมขับเคลื่อนงานอย่างใกล้ชิด แจงเปิดน่านฟ้าเสรี เน้นคำนึงประโยชน์ชาติ ขีดเส้นยุติค่าเสียหายกับ Roll&Royce ก.พ.นี้ ยันเตรียมลดการจ้าง Out Source 1 หมื่นคน ช่วยหั่นค่าใช้จ่าย สั่งกำชับเข้มงวดมาตรการป้องกันไวรัสโคโรนา

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังติดตามผลการดำเนินงานตามนโนยบายของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บกท. ว่า ตนได้เน้นย้ำถึงความเข้มงวดของการทำหน้าที่ในฐานะที่ได้กำกับดูแล บกท. ด้วยการอยู่ร่วมกัน และขับเคลื่อนการทำงานอย่างใกล้ชิด โดยในส่วนแนวคิดการเปิดน่านฟ้าเสรีนั้น ถือเป็นผลดีต่อการเดินทางในวงกว้าง แต่จะต้องมีการวางแผนทางการบิน เส้นทาง สิทธิการบิน ซึ่งจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก

สำหรับการเจรจาค่าเสียหายกับ Roll&Royce นั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาหากไม่ได้ข้อยุติภายใน ก.พ. 2563 โดยจะเร่งหารือตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไปโดยเร็ว ด้านการขายสินทรัพย์และเครื่องบินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องของ บกท. รุ่น A340 จำนวน 8 ลำ อยู่ในขั้นตอนรอการขาย ซึ่งยังค่อนข้างล่าช้า เนื่องจากการประเมินปัจจัยทางราคาตลาด ความนิยม และค่าเสื่อมราคา ขณะที่ความคืบหน้าโครงการศูนย์ซ่อมบำรุง (MRO) อากาศยานอู่ตะเภานั้น แอร์บัสอยู่ระหว่างจัดทำประมาณการรายได้ที่จะเข้าร่วมโครงการ คาดว่าจะตรงตามแผนที่ได้กำหนดไว้

ทั้งนี้ ในเรื่องของมาตรการการลดค่าใช้จ่ายการจ้างงาน Outsource 10,000 คน ลง 10% สามารถดำเนินการได้ตามที่กำหนดไว้ โดยจะมีการหารือในรายละเอียดเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ขณะที่ การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายตั๋ว มอบหมายให้คำนึงถึงความทันสมัย รวดเร็ว มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะทางระบบออนไลน์ที่มีผู้นิยมใช้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ แต่จะต้องควบคุมไม่ให้กระทบต่อโครงสร้างระบบธุรกิจ 

นายถาวร ยังกล่าวถึงมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาว่า ได้กำชับให้เข้มงวดการควบคุมโดยเลือกใช้วิธีการต่างๆ ได้แก่ การควบคุมบนเครื่อง การเฝ้าระวัง การให้บริการ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่ง บกท. สามามรถควบคุมได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ตามระเบียบทางการบิน และองค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างเคร่งครัด 

ขณะเดียวกัน ต้องเตรียมพร้อมรับมาตรการข้อบังคับทางการบินในการควบคุมสายการบินที่ถูกร้องเรียนหรือเอาเปรียบผู้บริโภค เพื่อรักษาสิทธิของผู้โดยสาร กรอบความรับผิดชอบของสายการบินกรณีล่าช้าหรือยกเลิกเที่ยวบิน ที่จะต้องคืนค่าโดยสารโดยขึ้นอยู่กับอัตราช่วงเวลาความล่าช้าและความเสียหายที่เกิดขึ้น การตรวจสอบระมัดระวังปัญหาจากการซ่อมเครื่องยนต์ที่อาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใช้บริการและการวางแผนการซ่อมให้เกิดประสิทธิภาพส่งผลกระทบน้อยที่สุด