‘คมนาคม’ จัดเต็ม! เข็น 46 เมกะโปรเจ็กต์ 1.79 แสนล้าน เสนอ ครม.สัญจร จ.นราธิวาส พรุ่งนี้! ครอบคลุม ‘บก-ราง-อากาศ’

“ศักดิ์สยาม” เข็น 46 เมกะโปรเจ็กต์ 1.79 แสนล้าน เสนอ ครม.สัญจรพรุ่งนี้ จัดเต็ม! ครอบคลุม “บก-ราง-อากาศ” กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ-ประชาชนเดินทางสบาย เสริมแกร่งคมนาคมไทย

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่จังหวัดนราธิวาสในวันพรุ่งนี้ (21 ม.ค. 2563) กระทรวงคมนาคม นำโดย “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ในโครงการที่มีวงเงินลงทุนเกิน 1 พันล้านบาท จำนวน 46 โครงการ รวมวงเงินทั้งสิ้น 1.79 แสนล้านบาท เป็นงบผูกพันปี 2564-2567 ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ กระตุ้นภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ ทั้งยังเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนด้วย 

สำหรับ 46 โครงการนั้น แบ่งเป็น โครงการของกรมทางหลวง (ทล.) จำนวน 41 โครงการ วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท, กรมทางหลวงชนบท (ทช.) จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 3.1 พันล้านบาท, กรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 3.8 พันล้านบาท และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 1 โครงการ วงเงิน 2 พันล้านบาท

***เปิด 46 โปรเจ็กต์ 1.79 แสนล้าน***

ทั้งนี้ ในส่วนของ 46 โครงการที่กระทรวงคมนาคม เสนอคำของบประมาณปี 2564 นั้น ได้แก่ กรมทางหลวง (ทล.) 41 โครงการ วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท ประกอบด้วย แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2 โครงการ คือ 1.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 365 สายทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทราด้านเหนือ วงเงิน 1.1 พันล้านบาท ซึ่งจะขยายเป็น 4 ช่องจราจร และ 2.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3481 สายคลองหลวงแพ่ง-อ.บางน้ำเปรี้ยว วงเงิน 2.4 พันล้านบาท โดยจะขยายเป็น 4 ช่องจราจร ทั้งนี้ 2 เส้นทางดังกล่าวนั้น ถือเป็นเส้นทางที่มีปริมาณรถบรรทุกสูง โดยเฉพาะรถปูนซีเมนต์เข้าสู่ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร (กทม.)

นอกจากนี้ กรมทางหลวง ยังมีแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 38 โครงการ แบ่งออกเป็น 2 แผนงาน ได้แก่ 1.แผนงานก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) 3 โครงการ คือ 1.โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ วงเงิน 55.8 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค และแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนเพชรเกษม 2.โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน วงเงิน 26.6 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค รวมถึงเชื่อมโยงกับมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา และแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพหลโยธิน และ 3.โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว วงเงิน 18.7 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค และแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพระราม 2 พร้อมทั้งเชื่อมต่อกับทางด่วน สายพระราม 3-ดาวคะนอง ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะถือเป็นโครงข่ายที่เชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ

2.แผนงานก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน 35 โครงการ เช่น โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ ด้านตะวันออก ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 117-บรรจบทางหลวงหมายเลข 225 วงเงิน 3.2 พันล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร เพิ่มโครงข่ายทางหลวง รวมถึงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย, โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ (ด้านตะวันออก) วงเงิน 3.4 พันล้านบาท, โครงการขยายช่องจราจรเป็น 6 ช่อง บนทางหลวงหมายเลข 204 ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา วงเงิน 1 พันล้านบาท, โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่เชื่อมวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก-ทางหลวงหมายเลข 32 วงเงิน 2.2 พันล้านบาท, โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่เชื่อมวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก วงเงิน 2.8 พันล้านบาท เป็นต้น และ 3.แผนงานบูรณาการการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 1 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองเชียงของ วงเงิน 1.1 พันล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายหลักในการขนส่งสินค้าภาคเหนือ ไปสู่ สปป.ลาว และจีนตอนใต้

ขณะที่ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) นำเสนอ 2 โครงการ วงเงิน 3.1 พันล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างถนนสายแยก ทล.1020-บ้านกิ่วแก้ว อ.เทิง อ.จุน จ.เชียงราย, จ.พะเยา วงเงิน 1.3 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการก่อสร้างทางแนวใหม่เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางจาก จ.เชียงราย ลงสู่พื้นที่ภาคกลางผ่านทาง จ.พะเยา ทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่สำคัญ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายและลดระยะเวลาในการเดินทาง 2.โครงการก่อสร้างถนนสายแยก ทล.3452-สี่แยกบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี วงเงิน 1.8 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายทางหลวงให้มีความสะดวก ลดค่าใช้จ่ายและลดระยะเวลาในการเดินทาง รองรับปริมาณการจราจรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การค้า การคมนาคมขนส่งในพื้นที่ด้วย

ในส่วนของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) นำเสนอ 2 โครงการ วงเงิน 3.8 พันล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน และองค์ประกอบอื่นๆ ท่าอากาศยานตรัง วงเงิน 1.8 พันล้านบาท และ 2.โครงการก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่งและลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน และองค์ประกอบอื่นๆ ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช วงเงิน 2 พันล้านบาท ทั้งนี้ ทั้ง 2 โครงการนั้น ดำเนินการเพื่อรองรับอากาศยานที่มีขนาดใหญ่ได้ รวมถึงรองรับปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต 20 ปี ส่งเสริมการคมนาคมทางอากาศ การท่องเที่ยว เพิ่มรายได้ให้กับท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจระดับประเทศ ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เสนอ 1 โครงการ วงเงิน 2 พันล้านบาท ได้แก่ โครงการติดตั้งระบบโครงข่าบโทรคมนาคม เนื่องจากอุปกรณ์โทรศัพท์ที่ใช้งานอยู่เป็นระบบเก่า รวมทั้งสัญญาร่วมทุนจัดตั้งโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงหมดอายุสัญญาแล้ว รฟท.จึงต้องขอรับการจัดสรรงบประมาณโครงการดังกล่าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการติดต่อสื่อสารระบบควบคุมการเดินรถให้เป็นมาตรฐานสากล ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนด้านพลังงาน รวมถึงเพื่อยกระดับการให้บริการระบบราง ด้านการโดยสาร และการขนส่งสินค้าที่มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยสูงสุด