‘ศักดิ์สยาม’ ปาฐกถางาน ‘Next Transport…Next Thailand’ ขับเคลื่อนภารกิจคมนาคม เดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์ 1 ล้านล้าน พร้อมดันไทยสู่ฮับขนส่งอาเซียน

“ศักดิ์สยาม” ขับเคลื่อนภารกิจคมนาคม เร่งเดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์ 1 ล้านล้าน พร้อมลุยลงทุน EEC-WEC-EWEC ดันไทยสู่ฮับขนส่งอาเซียน กล่อมต่างชาติลงทุน 50 ปีกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว หวังเชื่อมโลจิสติกส์ทะเลอินเดีย-เส้นทางสายไหมจีน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายในงาน Next Transport…Next Thailand คมนาคมแห่งอนาคต…จุดเปลี่ยนประเทศไทย ที่จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ทรานสปอร์ต เจอร์นัล ในโอกาสครบรอบ 22 ปีว่า การคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคมมีภารกิจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบบริการด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ตลอดจนการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทั้งทางบก-น้ำ-ราง-อากาศ ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศ ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีมาใช้และการลดภาระค่าครองชีพประชาชน ภายใต้การดำเนินงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ทั้งนี้ จากการเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยดังกล่าว จะสามารถสร้างประโยชน์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ภายใต้โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นสิ่งที่ตนจะขับเคลื่อน เพื่อพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งของอาเซียน (ASEAN transportation hub) เป็นการขยายโครงสร้างพื้นฐานออกไปทั้ง 4 ภาค เชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านการลงทุนมากกว่า 1 ล้านล้านบาท พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนว่าจะไม่มีการยกเลิกแผนลงทุนขนาดใหญ่แน่นอนทั่วประเทศ เพราะรัฐบาลใช้เครื่องมือแบบร่วมทุนภาครัฐ-เอกชน (PPP) เป็นข้อผูกมัดเสถียรภาพการพัฒนาทุกโครงการให้ก่อสร้างตามกำหนดการ ยืนยันว่าวันนี้ไทยยังมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี ดังนั้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติได้มากขึ้นแบบระยะยาว 30-50 ปี แต่ถ้าหากในวันนี้ประเทศไทยยังไม่เริ่มพัฒนาอาจเสียศักยภาพศูนย์กลางอาเซียนให้กับประเทศเวียดนาม ซึ่งถือว่ามีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รวดเร็วมาก โดยจะเน้นเพิ่มสัดส่วนขนส่งสินค้าทางรางให้เป็น 30% ของทั้งหมด

“ทุกโครงการเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง ไม่มีปล่อยทิ้งให้เป็นอนุเสาวรีย์ปล่อยทิ้งร้างแบบที่ผ่านมาแน่นอน โครงสร้างพื้นฐานจะเป็นตัวการันตีความเชื่อมั่นนักลงทุน” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า สำหรับแผนลงทุนในขณะนี้ ที่อยู่ระหว่างพัฒนานั้น เริ่มจากเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน (Belt and Road Initiative) ได้เริ่มก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย ลงทุนเฟส 1 และ 2 ไม่ต่ำกว่า 3.75 แสนล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อการขนส่ง ไทย-สปป.ลาว-จีน โดยรัฐบาลจะผลักดันการทำวีซ่าอิเล็คทรอนิกส์ (E-Visa) เพื่อให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาได้ง่ายขึ้น ตอนนี้อยู่ระหว่างเตรียมรอประชุมคณะกรรมการร่วม เพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (Joint Committee หรือ JC) ครั้งที่ 28 ก่อนที่จะกำหนดสกุลเงินในการชำระเงินกู้ของโครงการรถไฟไทย-จีน โดยเบี้องต้นทางจีนต้องการให้ชำระเงินคืนเป็นสกุลดอลล่าร์ฯ เนื่องจากเงินบาทมีค่าเงินที่แกว่งตัวและเงินบาทแข็งค่า

ขณะที่ด้านตะวันออกในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) นั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมากซึ่งจะไม่มีการยกเลิกแน่นอน เริ่มตั้งแต่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท ขณะนี้เริ่มวางแผนก่อสร้างแล้วใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี โครงการที่อยู่ระหว่างรอลงนามสัญญา มีทั้ง เมืองการบินอู่ตะเภาและท่าเรืออู่ตะเภา 2 แสนล้านบาท โครงการท่าเรือแหลมฉบัง วงเงิน 8.4 หมื่นล้านบาท และโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ในส่วนของฝั่งเขตเศรษฐกิจภาคตะวันตก(WEC) ขณะนี้กระทรวงคมนาคม เร่งผลักดันแผนก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท เป็นเส้นทางเชื่อมเศรษฐกิจไทย-เมียนมา ระหว่างชายแดนไทยและเขตเศรษฐกิจทวาย ซึ่งมีท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่สามารถเชื่อมการขนส่งสินค้ากับมหาสมุทรอินเดียและกลุ่มประเทศ BIMSTEC

ในส่วนด้านการเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและตะวันตกของภูมิภาค หรือ East – West Economic Corridor (EWEC) สามารถเชื่อมต่อไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน ตอนใต้จึง ขณะนี้ประเทศไทยได้พัฒนาถนน 4 ช่องจราจรเพื่อสนับสนุนการขนส่งเส้นทางดังกล่าวผ่านประเทศไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนารถไฟทางคู่ EWEC ระหว่าง อ.แม่สอด จ.ตากไปจนถึงชายแดน จ.มุกดาหาร เพื่อเชื่อมต่อการค้ากับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (GMS)