เปิดศึก! ‘ทย.’ ค้านหัวชนฝา หลัง ทอท. จ่อฉกขุมทรัพย์ ‘สนามบินกระบี่’ ไปบริหารแทน ฉุดรายได้หด 400 กว่าล้าน

“กรมท่าอากาศยาน” โวย! หลัง ทอท. จ่อฉก “สนามบินกระบี่” ไปบริหารแทน ฉุดรายได้หาย 400 กว่าล้าน กระทบกองทุนหมุนเวียน สะเทือนบริหารองค์กร ร้องถามหาผู้รับผิดชอบ ด้าน “ศักดิ์สยาม” เตรียมเรียก 2 หน่วยงานนั่งถกกัน ชี้ยังเป็นเพียงมติบอร์ด ทอท.เท่านั้น ฟาก “ถาวร” ระบุ “กระบี่” ก้าวสู่เมืองหลัก กวาดรายได้ท่องเที่ยวอันดับ 5 ของประเทศ

นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน หรือ ทย. เปิดเผยว่า ตามที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ออกมาชี้แจงภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการ หรือ บอร์ด ทอท. วานนี้ (21 ส.ค. 2562) มีมติเห็นชอบปรับแผนการขอรับการโอน 4 สนามบินใหม่ ได้แก่ สนามบินกระบี่ สนามบินบุรีรัมย์ สนามบินตาก และสนามบินอุดรธานี จากเดิมเป็นสนามบินชุมพร สนามบินสกลนคร สนามบินตาก และสนามบินอุดรธานี หรือมีการเปลี่ยน 2 สนามบินที่จะขอรับโอน

ทั้งนี้ ทย. เห็นว่า หากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. มีมติมอบความรับผิดชอบในการบริหารจัดการให้ ทอท. เข้าไปดูแลและบริหารจัดการแทน ทย. โดยมีท่าอากาศยานกระบี่ เป็น 1 ใน 4 นั้น จะทำให้ ทย. ประสบปัญหาการบริหารจัดการและซ่อมแซมบำรุงรักษาในอีก 24 ท่าอากาศยานที่เหลือ เนื่องจาก ในปัจจุบัน ทย. มีรายได้จากการให้บริการท่าอากาศยานภูมิภาคทั้ง 28 แห่ง ในปี 2561 เป็นเงินจำนวนประมาณ 852 ล้านบาท โดยรายได้หลักมาจากการดำเนินงานของท่าอากาศยานกระบี่ ในปี 2561 เป็นเงินจำนวนประมาณ 469 ล้านบาท คิดเป็น 55.05%  

ขณะเดียวกัน ท่าอากาศยานเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ให้บริการประชาชนครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ และรัฐบาลได้ให้งบประมาณลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ไปมากแล้ว เพื่อขยายขีดความสามารถในการให้บริการ เช่น การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และการขยายลานจอดอากาศยานซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ อีกทั้งในปีงบประมาณ 2563 นั้น ทย.ขอรับงบประมาณในการก่อสร้างทางขับขนานด้วย รวมงบประมาณทั้งสิ้นในการพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่เป็นจำนวน 6,000 กว่าล้านบาท ซึ่งคาดหวังว่าจะนำรายได้ที่จัดเก็บเข้ากองทุนหมุนเวียนของกรมท่าอากาศยาน โดยรัฐบาลมีแนวโน้มจะลดภาระงบประมาณในส่วนนี้ของ ทย.ลง     

นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดี ทย.

นางอัมพวัน กล่าวต่ออีกว่า รายได้จากการดำเนินการของ ทย. รวมทั้งรายได้จากการดำเนินงานของท่าอากาศยานกระบี่ ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศกำหนดให้ ทย. นำรายได้จากการให้บริการท่าอากาศยานเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน เพื่อใช้ในการบริหารจัดการและซ่อมแซมบำรุงรักษาท่าอากาศยาน เช่น จ้างพนักงานให้เพียงพอเนื่องจาก ข้าราชการ และลูกจ้างประจำ มีกรอบอัตรากำลังจำกัด การซ่อมบำรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ลิฟท์ บันไดเลื่อน สายพานลำเลียงซึ่งมีข้อขัดข้องไม่สามารถตั้งงบประมาณไว้ล่วงหน้าได้ 

ทั้งนี้ รายได้ที่เข้าสู่กองทุนฯ จึงเป็นกลไกในการบริหารจัดการท่าอากาศยานให้สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างสะดวกรวดเร็วทันต่อการให้บริการผู้โดยสาร ประกอบกับขณะนี้ ทย อยู่ในระหว่างจัดทำโครงสร้างเงินทุนหมุนเวียนเพื่อปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการพึ่งพางบประมาณของรัฐปีละ 1,000 ล้านบาท และใช้สำหรับแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนของผู้โดยสารในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่เพียงพอ การซ่อมบำรุงล่าช้าและการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานสนามบิน

ดังนั้น ทย. จึงขอสอบถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในผลกระทบที่เกิดขึ้น อีกทั้งคำขอของพื้นที่ในการสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ เพื่อบริการประชาชนในพื้นที่ที่ห่างไกลอาจจะต้องขอทบทวนหรืออาจจะมีขึ้นได้ยาก เนื่องจาก ทย. ไม่สามารถรับภาระในการบริหารจัดการและซ่อมบำรุงท่าอากาศยานที่เหลือทั้ง 24 แห่งได้ ดังนั้น ทย. อาจจะเสนอกระทรวงคมนาคมให้พิจารณาเรื่อง Management Contract หรือ PPP เพื่อความโปร่งใส โดย ทย. จึงไม่เห็นด้วยในการส่งมอบการบริหารจัดการท่าอากาศยานกระบี่ให้ ทอท. เนื่องจากมีผลกระทบในทางลบต่อประชาชนและผู้ใช้บริการท่าอากาศยานต่างๆ ทั่วประเทศ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เตรียมเชิญทั้ง ทย. และ ทอท. มาหารือถึงแผนการรับโอน 4 สนามบิน โดยเฉพาะตามที่บอร์ด ทอท. มีมติให้รับโอนสนามบินกระบี่มาบริหารจัดการแทน ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าวนั้น ยังเป็นเรื่องของมติบอร์ด ทอท.พิจารณาเท่านั้น ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมาหารือเพื่อสรุปกันอีกครั้ง

“เรื่องสนามบินกระบี่ เป็นเรื่องที่บอร์ด ทอท. พิจารณา ซึ่งถ้า ทย. ไม่เห็นด้วย ก็อยู่ที่ ทย. ว่าจะให้เหตุผลว่าอะไร และที่ไม่ให้เพราะอะไร คนที่ตัดสินใจคือ ทย. เพราะเขาเป็นเจ้าของ ต้องมาคุยกัน ตอนนี้ยังไม่ได้คุยกันเลย” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับท่าอากาศยานกระบี่นั้น มีผู้โดยสารที่ใช้บริการ 4 ล้านคนต่อปี ซึ่งเป็นจังหวัดสำคัญ ตามนโยบายการเชื่อมโลกมาเมืองรอง รองรับนักท่องเที่ยวจากจังหวัดภูเก็ตและมีความแออัด ขณะเดียวกัน ในอนาคตกระบี่ไม่ใช่เมืองรอง และจะกลายเป็นเมืองหลัก เนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ พบว่าเป็นอันดับ 5 ของประเทศ

ทั้งนี้ ท่าอากาศยานกระบี่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลชุดที่แล้วประมาณ 6,000 ล้านบาท เพื่อขยายลานจอดเครื่องบินจาก 11 ลำ เพิ่มเป็น 14 ลำ เพื่อรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอีก 7-8 ปีข้างหน้า หรือเพิ่มเป็น 8 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ ยังมีแผนการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารเพิ่มอีก 1 แห่ง รองรับผู้โดยสารประมาณจาก 3 หมื่นตารางเมตรเป็น 6 หมื่นตารางเมตร และขยายรันเวย์ให้มีระยะทางยาวขึ้น