ด่วน! วันนี้ ‘สหกรณ์แท็กซี่ฯ’ เตรียมยื่นหนังสือ ‘บิ๊กตู่’ เยียวยาแท็กซี่ ก่อนบุกคมนาคมพบ ‘ศักดิ์สยาม’ 14.00 น.

“เครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่” ออกมาตรการเยียวยาแท็กซี่รูปแบบเดิม 6 ข้อ นัดรวมตัววันนี้เตรียมยื่นหนังสือถึง “บิ๊กตู่” ก่อนเคลื่อนพลบุกคมนาคม พย “ศักดิ์สยาม” 14.00 น. หลังเดินหน้าแก้ปัญหา Grab ถูกกฎหมาย ชี้เพื่อความยุติธรรม ลดความขัดแย้งประกอบการแท็กซี่ สนองนโยบาย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในวันนี้ (21 ส.ค. 2562) เวลา 13.00 น. ตนพร้อมเครือข่ายแท็กซี่ประมาณ 60 คน จะเดินทางไปเรียกร้องการแก้ปัญหาแท็กซี่เกี่ยวกับนโยบายแก้ไขปัญหาแกร็บ (Grab Car) ให้ถูกกฎหมาย ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยยื่นหนังสือผ่าน ส.ส.สิระ เจนจาคะ ณ สภาผู้แทนราษฎร จากนั้นเดินทางไปที่กระทรวงคมนาคม เวลา 14.00 น. เพื่อยื่นหนังสือให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงเรื่องเสนอมาตรการเยียวยาแท็กซี่ต่อไป

สำหรับมาตรการเยียวยาแท็กซี่รูปแบบเดิมที่ต้องการเสนอนั้น มี 6 ข้อหลัก ได้แก่ 1.รถที่จะนำมาจดทะเบียนเป็นรถแท็กซี่มิเตอร์ให้กำหนดขนาดรถไม่ต่ำกว่า 1200 ซีซี หรือ 70 กิโลวัตต์ขึ้นไป 2.กำหนดอัตราค่าโดยสารให้สะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริง ในแต่ละช่วงเวลาและสภาพการจราจร 3.ให้ขยายอายุรถแท็กซี่มิเตอร์ในการใช้งานจาก 9 ปี เป็น 12 ปี 

4.สามารถโฆษณาบนรถได้ เพื่อเพิ่มช่องทางหารายได้เสริม 5.พัฒนาแอปพลิเคชั่นแท็กซี่โอเค (TAXI OK) ให้มีประสิทธิภาพ แข่งขันการให้บริการเทียบเท่ากับภาคเอกชนที่ให้บริการอยู่ในขณะนี้ และ 6.ขอให้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาผลดีและผลเสียในเรื่องนี้ และให้มีตัวแทนจากทางเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ฯ มีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาก่อนประกาศใช้กฎหมาย

นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร

ขณะที่ ก่อนหน้านี้ได้มีการแก้ไขปัญหาแท็กซี่ โดยทำให้ Grab ถูกกฎหมาย ถือเป็นเรื่องที่ดี เพื่อได้ปฏิบัติตามกฎหมายเท่าเทียม และไม่นำไปสู่การขัดแย้งกันเอง ระหว่างรถแท็กซี่รูปแบบเดิมและรถแท็กซี่รูปแบบใหม่ที่ใช้แอปพลิเคชั่นในการให้บริการเรียกใช้จากผู้ใช้บริการ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่แท็กซี่รูปแบบเดิม ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของกรมการขนส่งทางบก หรือ ขบ. โดยที่ผ่านมามีต้นทุนสูงมาก ทั้งตัวรถ และอุปกรณ์ที่ติดตั้งในรถ 

โดยรถแท็กซี่รูปแบบใหม่ ได้นำรถยนต์ส่วนบุคคลมาทำเป็นรถแท็กซี่โดยใช้ร่วมกับโทรศัพท์มือถือ ทำให้ต้นทุนการประกอบการต่อคันมีส่วนต่างระหว่างต้นทุนห่างกันมาก เช่น รถแท็กซี่รูปแบบเดิมคันละประมาณ 1 ล้านกว่าบาท ขณะที่แท็กซี่รูปแบบใหม่คันละประมาณ 3-4 แสนบาท แต่คิดค่าโดยสารเท่ากัน จึงไม่ยุติธรรมกับแท็กซี่ที่ให้บริการรูปแบบเดิมกับแท็กซี่รูปแบบใหม่

นายวิฑูรย์ กล่าวต่ออีกว่า จึงต้องการให้ นายศักดิ์สยาม ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากในหลายประเทศที่แก้ปัญหาในเรื่องเดียวกันนี้โดยเพิ่มต้นทุนให้กับแท็กซี่รูปแบบใหม่ และให้ลดต้นทุนแท็กซี่รูปแบบเดิมหรือสามารถหารายได้เพิ่มให้กับรถแท็กซี่รูปแบบเดิม เพื่อให้แท็กซี่รูปแบบเดิมและแท็กซี่รูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นสามารถประกอบการได้ทั้ง 2 รูปแบบ 

ทั้งนี้ ให้ผู้ใช้บริการเป็นผู้ตัดสินใจจะเลือกใช้แท็กซี่รูปแบบไหน และผู้ประกอบการจะได้ตัดสินใจการลงทุนในรูปแบบแท็กซี่เดิมหรือแท็กซี่แบบใหม่ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในการประกอบการแท็กซี่ทั้ง 2 รูปแบบ ทั้งยังเป็นการลดการขัดแย้งในเรื่องนี้ และสอดรับกับนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ”