‘อธิรัฐ’ ลงพื้นที่กำแพงเพชร ส่งมอบโครงการขุดลอกแม่น้ำปิง ใช้อุปโภคบริโภค-ทำการเกษตร

“อธิรัฐ”สั่ง จท.ดูแลการขุดลอกบํารุงรักษาทางน้ำ ส่งมอบโครงการขุดลอกแม่น้ำปิง หวังเพื่อประโยชน์ประชาชน หลังเกิดสันดอนขนาดใหญ่ขวางทางนำ้ กระทบไม่สามารถใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค-ทำการเกษตร

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดและส่งมอบโครงการขุดลอกแม่น้ำปิง ตําบลวังแขม อําเภอคลองขลุง จังหวัดกําแพงเพชร บริเวณหน้าวัดแขม (จันทราราม) หมู่ที่ 1 ตําบลวังแขม อําเภอคลองขลุง จังหวัดกําแพงเพชรว่า “น้ำ” ถือเป็นทรัพยากรที่มีความสําคัญต่อการดํารงชีวิตของประชาชนทุกคน ทั้งการอุปโภค บริโภค การเกษตร การประมง การท่องเที่ยว การเดินทางสัญจร และการขนส่งสินค้า กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่า (จท.) มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับแม่น้ำ ลําคลอง ทั้งด้านการขุดลอก การบํารุงรักษาและการป้องกันไม่ให้มีการก่อสร้างสิ่งล่วงลําลงในแม่น้ำ ลําคลอง เกินความจําเป็น

ทั้งนี้ จึงได้มอบนโยบายให้ จท. ดําเนินการในเรื่องการขุดลอกบํารุงรักษาทางน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ ประโยชน์จากแม่นํา ลําคลองอย่างเพียงพอทั่วถึง ตลอดจนรักษาสมดุลของชุมชนและธรรมชาติอย่างยั่งยืนตามที่องค์การบริหารส่วนตำบลวังแขม ได้ขอความอนุเคราะห์ จท. ขุดลอกแม่น้ำปิง บริเวณหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 และ หมู่ที่ 3 ตำบลวังแขม อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร เนื่องจากเกิดการทับถมของตะกอนทราย ทำให้เกิดสันดอนขนาดใหญ่ขวางทางนำ้ ส่งผลกระทบต่อประชาชนไม่สามารถใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร จท.โดยสำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ ตระหนักถึงปัญหาการตื้นเขินของร่องน้ำซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่

โดยได้ดำเนินการขุดลอกแม่น้ำปิง จำนวน 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ดำเนินการขุดลอก เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 ถึง 28 กรกฎาคม 2561 จำนวน 100 วัน, ระยะที่ 2 ดำเนินการขุดลอก เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2562 จำนวน 110 วัน และระยะที่ 3 ดำเนินการขุดลอก เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 ถึง 15 กรกฎาคม 2562 จำนวน 60 วัน รวมระยะเวลา 270 วัน ขุดลอกได้ระยะทาง 1,350 เมตร โดยมีความกว้างของก้นร่องน้ำเฉลี่ย 10 เมตร ความลึกจากพื้นท้องน้ำเดิมประมาณ 3 – 4 เมตร และได้นำวัสดุที่ได้จากการขุดลอกจำนวน 195,234 ลูกบาศก์เมตรไปปรับแต่งตลิ่ง เพื่อแก้ไขปัญหาการทับถมของตะกอนทรายขวางทางน้ำ และเปลี่ยนแปลงทิศทางกระแสน้ำไม่ให้กัดเซาะตลิ่งพัง ทำให้ประชาชน จำนวน 3 หมู่บ้าน 1,000 ครัวเรือน ได้รับประโยชน์สามารถใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรได้ต่อไป