เปิดใจ ‘ชัยวัฒน์’ ว่าที่ปลัด คค. ส่งไม้ต่องาน สนข.–เร่งแก้ปัญหาจราจร

“ชัยวัฒน์” มั่นใจ ผอ.สนข.คนใหม่ ขับเคลื่อนนโยบายได้ ฝากงานเร่งแก้ปัญหาจราจร เดินงานตามแผนแม่บทระยะ 8 ปี ห่วงสานงานไฮสปีดไทย-จีน ด้าน “สราวุธ” รับลูก พร้อมลุยงานเต็มที่ รับเป็นเรื่องท้าทาย หวังนำประสบการณ์มาประยุกต์ใช้

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ นายสราวุธ
ทรงศิวิไล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมและโฆษกกระทรวงฯ จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง ผอ. สนข.คนใหม่ แทนตนที่จะต้องไปดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมคนใหม่นั้น ต้องการให้สานต่อแก้ไขปัญหาด้านจราจร ตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงต้องการให้เร่งรัดโครงการตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว 8 ปี (2558-2565) นอกจากนี้ให้เดินหน้าโครงการตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน (แอคชั่นแพลน) ปี 2562 รวมทั้งผลักดันกฎหมายด้านการขนส่งของแต่ละหน่วยงานด้วย อาทิ ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ……..และ ร่าง พ.ร.บ. การขนส่งทางราง พ.ศ……… ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

เมื่อถามถึงเรื่องที่เป็นห่วงหาก ผอ.สนข.คนใหม่เข้ามาปฏบัติหน้าที่แล้ว นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ตนยังเป็นห่วงเรื่องโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ไทย-จีน เนื่องจากมีรายละเอียดของโครงการ โดยเฉพาะทางด้านเทคนิคกับฝ่ายจีนจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ตนจะเข้ามาช่วยพิจารณาอย่างต่อเนื่อง เพราะถือเป็นโครงการที่ตนได้มีส่วนร่วมมาตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา

“ผมมั่นใจว่านายสราวุธจะเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการและนโยบายของ สนข. ได้อย่างต่อเนื่อง และไม่กังวล เพราะมีทีมงานของ สนข. ที่คอยสนับสนุนให้ข้อมูลมาตลอด และนายสราวุธเป็นคนเก่ง มีความรู้ ความสามารถ โดยเฉพาะงานด้านการคมนาคมและขนส่ง ผมเชื่อว่านายสราวุธจะนำพื้นฐานทางด่านวิศวกรมาประยุกต์ใช้กับงานที่ สนข. แต่หลังจากนี้ต้องการให้นายสราวุธ มีบทบาทมายืนแถวหน้าต้องสามารถพรีเซนต์การดำเนินงานของ สนข. ได้” นายชัยวัฒน์ กล่าว

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ เปิดเผยว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. มีมติแต่งตั้งตนให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.สนข. หากได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการพร้อมทำงานอย่างเต็มที่ ยอมรับว่างานที่ได้รับมอบหมายเป็นงานที่ท้าทาย แต่เชื่อว่าทั้งบุคคลของ สนข. ผนวกกับความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของตนในฐานะที่ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมและผู้อำนวยการศูนย์ปลอดภัยคมนาคม เชื่อว่าจะสามารถขับเคลื่อนแผนงานของ สนข. ให้สามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สนข. มีบทบาทที่ชัดเจนและถือว่ารุ่งเรืองมากที่สามารถผลักดันยุทธศาสตร์และแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะทั้งประเทศให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาจราจรทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งมาตรฐานความปลอดภัยที่จะทำให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมดำเนินการตามมาตรฐานเดียวกัน สามารถเชื่อมต่อการเดินทางให้ใช้งานได้จริงครอบคลุมทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศของประเทศ

“หลังจากนี้จะต้องกล้าฟันธงในโครงการต่างๆ ที่เกิดประโยชน์ด้านระบบคมนาคมขนส่ง เพราะถ้าช้าประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เมียนมา มาเลเซีย และสิงคโปร์ จะนำโครงการไปปฏิบัติ ซึ่งตนต้องกล้าตัดสินใจมากขึ้น ภายใต้ข้อมูลที่ชัดเจน ทั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ทำงานที่ สนข. ที่จะได้วางแผนระบบขนส่งในอนาคตของประเทศ และมองว่างาน สนข. เป็นงานใหญ่และท้าทายมาก” นายสราวุธ กล่าว

นายสราวุธ กล่าวต่ออีกว่า ตนจะเน้นแผนแม่บทระบบขนส่งในภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะให้การจราจรเกิดความสะดวก และปลอดภัยมากขึ้น ในขณะนี้ สนข. ได้ทำงานร่วมกับคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (อจร.) ทั้ง 76 จังหวัด เพื่อกำหนดเส้นทางและความปลอดภัย ถือเป็นการบูรณาการระหว่างกระทวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย

เมื่อถามถึงความหนักใจหรือห่วงเรื่องใดหากเข้าดำรงตำแหน่ง ผอ.สนข. แล้ว นายสราวุธ กล่าวว่า เป็นห่วงเรื่องระบบการขนส่งทางน้ำ เนื่องจากยังมีการใช้งานไม่เต็มที่ โดยเฉพาะการพัฒนาท่าเรือฝั่งอ่าวไทยเชื่อมต่อกับฝั่งอ่าวไทย รวมทั้งมีคู่แข่งจากต่างประเทศจำนวนมาก ขณะที่ระบบขนส่งทางบก ทางราง และทางอากาศ เชื่อว่าสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน โดยเฉพาะระบบรางที่รัฐบาลให้ความสำคัญและมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะนี้รถไฟฟ้าที่ให้บริการประชาชนในปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเที่ยวต่อวัน และอนาคตหากสร้างรถไฟฟ้าครบ 10 สาย จะทำให้ประชาชนเดินทางด้วยระบบไฟฟ้ามากขึ้นถึง 3-4 ล้านเที่ยวต่อวัน รวมทั้งในภูมิภาคด้วย

นอกจากนี้ หน้าที่ ของ สนข. จะต้องจัดลำดับความสำคัญของโครงการให้มีความเหมาะสมเป็นไปตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ อาทิ การขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจร โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) โครงการรถไฟทางคู่ รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)