‘อนาคตใหม่’ ชำแหละนโยบายคมนาคม หน่วยงานไม่บูรณาการ-ทำโครงการซ้ำซ้อน

“อนาคตใหม่” ชำแหละนโยบายคมนาคม เชื่อไม่สามารถดำเนินการได้จริง ติงหน่วยงานไม่ทำงานบูรณาการ จวกทางคู่-ไฮสปีดเทรน-มอเตอร์เวย์ซ้ำซ้อนกัน หวั่นใช้งบไม่คุ้มค่าการลงทุน สอนมวยเสนอให้เน้นเปลี่ยนโหมดการเดินทาง พร้อมแนะใช้หลักวิศวะ-เทคโนโลยีแก้ปัญหาจราจรในเมือง ด้าน “ศักดิ์สยาม” น้อมรับข้อมูล ลั่นคมนาคมยุคนี้ ยินดีร่วมทำงาน และเปิดโอกาสทุกคนเสนอคำแนะนำ-ข้อสงสัย ฟาก “ศุภชัย” ภท. ยันดัน Grab ถูก กม. ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ใคร หวังเพิ่มทางเลือกให้ ปชช.

นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวในการอภิปรายในวันแถลงนโยบายรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า จากนโยบายด้านคมนาคมตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภา ที่จะมีการใช้งบประมาณกว่าหลายล้านล้านบาทนั้น เชื่อว่าอาจจะไม่สามารถดำเนินการได้จริง โดยในส่วนของการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครนั้น ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ที่ได้ทุ่มงบประมาณกว่า 400 ล้านบาท ในการจัดทำแบบจำลองด้านการขนส่งและจราจรระดับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (eBUM: Extended Bangkok Urban Area Model) และแบบจำลองระดับประเทศ (NAM: National Model) เพื่อวิเคราะห์ปริมาณการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างจังหวัดที่เกิดขึ้นในแต่ละรูปแบบ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีนั้น ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง ไม่สะท้อนกับความคุ้มค่าของโครงการต่างๆ อีกทั้งข้อมูลจากการศึกษาไม่มีความน่าเชื่อถือ และไม่สามารถพิสูจน์ได้

“การแก้ปัญหาจราจร ไม่ได้อยู่ที่ว่าจะไปสั่ง แต่ต้องดูข้อเท็จจริง นโยบายของรัฐบาลควรจะต้องมีทิศทางในการพัฒนา ไม่ใช่เอาคำดีๆ ของแต่ละพรรคร่วมมาเรียงพารากราฟให้สวยหรู เพราะต่างหน่วยงานก็ต่างคิด ต่างวางแผน ต่างทำ ใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า แล้วก็มาอ้างว่าทำสอดคล้องกับนโยบายข้อนั้น ข้อนี้ ซึ่งการแก้ปัญหาจราจร ควรจะนำหลักวิศวกรรม และระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ด้วย และเราเชื่อว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่ประเทศที่คนจนมีรถ แต่เป็นประเทศที่คนรวยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยถ้าเป็นทิศทางของพรรคอนาคตใหม่ เราเลือกแล้วว่า สิ่งที่เราจะทำ คือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเดินทาง (Mode Shift) เพราะว่าประเทศไทยเราพึ่งพาการขนส่งทางถนนมากเกินไปมากๆ เมื่อเทียบกับกับประเทศอื่น มีการใช้รถยนต์ ใช้ถนนถึง 85% ขณะที่ระบบราง 2% แต่ระบบรางก็ไม่ใช่จะมาสร้าง จะมาผลาญ ต้องใช้ตามความจำเป็น เหมาะสม คุ้มค่า ไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งพอเราตั้งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเดินทางแล้ว ทุกหน่วยงานด้านคมนาคมก็ต้องเดินไปสู่จุดเดียวกัน และเอาเงินลงทุนไปใช้ในทางที่ถูกที่ควรด้วย” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

 

***คมนาคมไม่บูรณาการงานร่วมกัน***

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่ออีกว่า ขณะที่ แต่ละหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมยังไม่มีการบูรณาการในการดำเนินการร่วมกัน ยังมีหลายโครงการที่ซ้ำซ้อนกัน เช่น โครงการในแผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ 20 ปี (2560-2579) จำนวน 21 สายทาง ระยะทาง 6,612 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนกว่า 2 ล้านล้านบาท ของกรมทางหลวง หรือ ทล. กับแนวเส้นทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. แม้กระทั่งความซ้ำซ้อนโครงการของ รฟท. เองด้วย กล่าวคือ โครงการรถไฟทางคู่ ซ้ำซ้อนโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา ซึ่งมองว่าหากรัฐบาลจะมุ่งการขนส่งทางรางนั้น การขนส่งทางถนนควรจะนำมาช่วยเสริมการเดินทาง ไม่ควรกำหนดให้มาแข่งดีมานต์กันเอง ควรวางแนวทางอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ หากเป็นแนวทางของพรรคอนาคตใหม่นั้น จะเดินหน้าลดโครงการที่ซ้ำซ้อนกัน อาทิ หากไม่ดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง จะสามารถประหยัดงบประมาณได้กว่า 1.6 ล้านล้านบาท และนำงบประมาณเฉลี่ย 1.46 แสนล้านบาท ไปพัฒนาหัวเมืองต่างๆ ของประเทศได้อีกด้วย เนื่องจากการพัฒนาเมืองและการพัฒนาระบบคมนาคม จะต้องดำเนินการไปด้วยกัน

“โครงการรถไฟทางคู่ก็สามารถขนได้ทั้งคน และสินค้า หากทำให้เป็นระบบไฟฟ้าจะวิ่งได้ที่ความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งไม่ได้ต่างกันมากกับรถไฟความเร็วสูง หรืออยากจะทำให้รถไฟทางคู่เร็วขึ้น ก็แค่ไม่จอดบางสถานี ซึ่งที่ขาดจริงๆ คือ ระบบสาธารณะในเมือง หรือรถเมล์ ที่ใช้เงินไม่มาก ทำได้เลย แต่ก็ไม่ทำกัน ไหนบอกจะปฏิรูประบบ เป็นการผลาญงบประมาณไปทำ แบบประเคน เช่น เส้นนี้ยกให้จีนทำ ยกให้ญี่ปุ่นทำ ยกให้เจ้าสัวทำ แทนที่จะดูว่าประเทศไหนยื่นข้อเสนอที่ดีให้กับเรา อย่างนี้มันถูกต้องหรือไม่กับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

 

***”ศักดิ์สยาม” น้อมรับ-ยินดีร่วมงานทุกท่าน***

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตนได้มีการศึกษาข้อมูล และจัดทำแผนของกระทรวงคมนาคมในการบูรณาการการคมนาคมทั้งหมดของประเทศไทย ครอบคลุมทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ทั้งนี้ ตามที่มีการเสนอข้อมูลต่างๆ มาในการอภิปรายนั้น ตนจะนำไปศึกษา อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าในยุคที่มีตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ และนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมนั้น ยินดีที่จะทำงานร่วมกันกับ ส.ส.ทุกท่าน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกท่านที่ยังมีประเด็นอื่นๆ นำเสนอข้อแนะนำ หรือข้อสงสัยต่างๆ มาได้

ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ในส่วนนโยบายของพรรคภูมิใจไทยที่จะผลักดันให้ Grab ถูกกฎหมายนั้น ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับใครเป็นพิเศษ แต่สนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบการขนส่ง และถือเป็นการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมด้วย ส่งผลให้ประชาชนมีตัวเลือกเพิ่มขึ้น

“ในส่วนของพี่น้องแท็กซี่และมอเตอร์ไซต์วิน เราจะต้องมีการเยียวยา เพราะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งท่านศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ตระหนักตรงนี้ดี” นายศุภชัย กล่าว

 

***นโยบายการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน***

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมานั้น ในส่วนของการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน ข้อ 5.6.1 ได้ระบุว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศและสามารถรองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่าง ไร้รอยต่อ สานต่อการพัฒนารถไฟความเร็วสูง และเริ่มต้นการปรับปรุงระบบรถไฟขนาดราง 1 เมตร ให้เป็นระบบไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนให้เป็นโครงข่ายหลักในการเดินทางและขนส่งสินค้าของประเทศ และให้ความสําคัญกับการบูรณาการการพัฒนาระบบขนส่งกับการพัฒนาพื้นที่และเมือง การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ให้บริการภาคขนส่งและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง การเชื่อมโยง แหล่งท่องเที่ยว การกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ด้านความปลอดภัยทางถนนที่สอดประสานกันระหว่างระบบการเตือนภัย การช่วยเหลือกู้ภัย และการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยที่มีประสิทธิภาพ

ขณะที่ ข้อ 5.6.2 การแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดในพื้นที่เขตเมือง โดยการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะเมืองหลักในภูมิภาค การนําระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการควบคุม สั่งการจราจรและวางแผนการเดินทาง การกวดขันวินัยจราจร และการจัดระเบียบที่จอดรถ โดยเฉพาะการจัดให้มีที่จอดรถใต้ดินและบนดินเพิ่มเติม ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมทั้ง พัฒนาทางเท้า ทางจักรยาน และสิ่งอํานวยความสะดวกต่าง ๆ ให้สามารถรองรับความต้องการเดินทาง เพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว