‘คมนาคม’ ผุดตั๋วร่วมเชื่อม ‘ไทย-มาเลย์’ จ่ายค่ารถ-รถไฟแบบไร้รอยต่อ

“คมนาคม” ผุดตั๋วร่วมเชื่อมไทย-มาเลเซีย จ่ายค่ารถไฟ-รถโดยสาร นำร่องเส้นทาง “ปาดังเบซาร์-หาดใหญ่” ด้าน “จิรุตม์” เผย ส.ค.นี้ บิ๊ก รฟท. เตรียมถกร่วมเปิดเดินรถไฟ ช่วงปาดังเบซาร์-บัตเตอร์เวิร์ธ-รัฐปีนัง” แบบไร้รอยต่อ พร้อมจ่อลงนาม MOU เปิดเสรีเดินรถ พ่วงหารือแผนน่านฟ้า หลังเตรียมขยายสนามบินเบตง

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังจากการหารือร่วมกับเอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศมาเลเซีย เรื่องเทคโนโลยีการขนส่งและระบบรางร่วมกันว่า ขณะนี้รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ อยู่ระหว่างการหาแนวทางเชื่อมโยงระบบบัตรโดยสารร่วมในรูปแบบ E-Ticket เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและการเดินทางของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งในอนาคตจะทำให้การเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนระหว่างไทยกับมาเลเซียนั้น จะใช้บัตรใบเดียวเท่า โดยจะเริ่มจากเส้นทางเชื่อม “ปาดังเบซาร์-หาดใหญ่” ทั้งนี้ บัตรดังกล่าวจะสามารถชำระค่ารถไฟจากฝั่งมาเลเซียและสามารถชำระค่ารถโดยสารจากปาดังเบซาร์เข้าสู่ตัวเมืองหาดใหญ่ ถือว่าเป็นการส่งเสริมการเดินทางแบบไร้รอยต่อ (Seamless Transport) ด้วย 

นอกจากนี้ เตรียมส่งผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ไปประชุมหารือในเรื่องดังกล่าว ช่วงเดือน ส.ค. 2562 ที่ประเทศมาเลเซีย ขณะเดียวกัน ยังจะมีการหารือ เพื่อเปิดเดินรถไฟระหว่างประเทศให้สามารถวิ่งถึงกันได้ ช่วงปาดังเบซาร์-บัตเตอร์เวิร์ธ-รัฐปีนัง โดยปัจจุบันยืนยันว่า ระบบรวบรวมรายได้นั้น พัฒนาไปมากแล้ว สามารถตัดยอดได้ภายในวันเดียวโดยไม่ติดขัดเรื่องของอัตราค่าเงินแลกเปลี่ยนดังเช่นในอดีต จึงต้องการนำแผนเชื่อมรถไฟระหว่างกันทำให้เกิดขึ้นได้จริงอีกครั้ง

นายจิรุตม์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับเรื่องการขนส่งทางอากาศนั้น สนามบินเบตง จะเปิดให้บริการในช่วงกลางปี 2563 ได้หารือกับฝ่ายมาเลเซียเรื่องการขอใช้น่านฟ้าในอนาคต เนื่องจากรัฐบาลไทยมีแผนขยายสนามบินเบตงหลังการเปิดใช้ เพื่อให้เครื่องบินขนาดใหญ่สามารถลงจอดได้ ดังนั้นจึงต้องทำเรื่องขอใช้น่านฟ้าสำหรับเครื่องบินขนาดใหญ่ แต่ในช่วงเปิดสนามบินเบื้องต้นนั้น เครื่องบินขนาดเล็กสามารถบินได้ในน่านฟ้าไทยตามปกติ 

อย่างไรก็ตาม ยังได้หารือกันถึงข้อตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดน เป็นการเปิดเสรีเดินรถขนส่งสินค้าและขนส่งผู้โดยสารระหว่างกัน เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนโลจิสติกส์ โดยอนุญาตให้แลกเปลี่ยนสิทธิจราจรในประเภทรถบรรทุกก่อน เพื่อขนส่งสินค้าข้ามแดนจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งได้ หรือข้ามไปประเทศที่ 3 โดยใช้เอกสารนำเข้าชั่วคราวสำหรับตู้คอนเทนเนอร์และรถบรรทุก เบื้องต้นเตรียมลงนาม MOU ร่วมกัน โดยมอบโควต้าให้ประเทศละ 100-200 คัน ขณะนี้ฝ่ายไทยได้เห็นชอบหลักการร่าง MOU แล้ว รอฝั่งมาเลเซียศึกษารายละเอียดเท่านั้น คาดจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้