รฟม. เร่งจบศึก! รถไฟฟ้า ‘สีเหลือง vs สีน้ำเงิน’ ปมส่วนต่อขยายเชื่อมสีเขียวแย่งผู้โดยสาร

รฟม. เร่งสรุปส่วนต่อขยายสายสีเหลืองเชื่อมสายสีเขียว บี้ BTS เจรจา BEM ศึกแย่งผู้โดยสารรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงิน ยืนยันยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ฟาก รฟม.เล็งให้เอกชนแบกภาระค่าเสียหาย หวั่นซ้ำรอยค่าโง่ทางด่วน หากถูกฟ้องศาลในอนาคต

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เปิดเผยว่า นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.ได้รับนโยบายให้เร่งรัดเจรจาเรื่องส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงพหลโยธิน-รัชดาภิเษก หลังจากที่บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ทำหนังสือถึง รฟม. ต่อกรณีแผนของ BTS จะลงทุนส่วนต่อขยายดังกล่าว เนื่องจากกลัวว่าจะกระทบกับจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินที่ทับซ้อนเส้นทาง หากพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารเปลี่ยนไป ไม่ต้องมาต่อรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีลาดพร้าว แต่สามารถนั่งสายสีเหลือง ต่อ BTS เข้าเมืองไปได้ทันที 

ทั้งนี้ ผู้ว่าการ รฟม. เร่งรัดให้การเจรจาได้ข้อสรุปโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับคดีค่าชดเชยที่รัฐบาลต้องแบกรับจากปัญหาเรื่องแข่งขันผลประโยชน์กับเอกชน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า จะทำทุกอย่างเพี่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจา เพราะมีหลายเงื่อนไข เช่น ระเบียบต่างๆ เงื่อนไขข้อสัญญา เป็นต้น

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีการสร้างส่วนต่อขยายสายสีเหลืองว่า BTS ได้นัดหมายกับ BEM เรียบร้อยแล้วเพื่อเข้าเจรจาข้อกังวลเรื่องทางแข่งขัน ให้ได้ข้อสรุป ก่อนที่จะโครงการให้คณะกรรมการบริหาร รฟม. พิจารณาต่อไป ในส่วนของภาพรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองนั้น ความคืบหน้ายังคงเป้าหมายที่จะเปิดบริการในปี 2564

ขณะที่ แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หากจะพิจารณาถึงความสะดวกในการเดินทางของประชาชน และแนวทางที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด คือ ควรจะทำเส้นทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพราะประชาชนที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีเหลือง หากจะเชื่อมต่อไปยังเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไม่ต้องเปลี่ยนการเดินทางอีกครั้ง ด้วยรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงินที่สถานีพหลโยธิน หรือที่สถานีจตุจักร

รายงานข่าวจาก รฟม. ระบุว่า การประเมินพฤติกรรมการเดินทาง เมื่อเปิดสายสีเหลืองต่อขยายแล้ว จะทำให้ผู้โดยสารสายสีน้ำเงินลดลงบ้างแต่ไม่มาก หรือไม่ถึง 10% หลังจากนี้ รฟม.จะใช้แนวทางให้ BTS ต้องรับภาระเรื่องค่าเสียหายแทน รฟม. หาก BEM มีการฟ้องร้องต่อศาลในอนาคต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับคดีค่าโง่ทางด่วนอุดรรัถยาที่ภาครัฐต้องจ่ายค่าเสียหายกว่า 4,000 ล้านบาท