ผุด TAP Express Terminal ปั้น ทดม.ฮับขนส่งสินค้าอากาศ

จากกรณีที่กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซอย่างอาลีบาบา แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในสนามบินดอนเมืองเพื่อพัฒนาให้เป็นฮับกระจายสินค้าอีคอมเมิร์ซจากประเทศจีนนั้น ดร.พีรกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท เทคโนโลยี เอเชีย แปซิฟิก จำกัด หรือ TAP เปิดเผยว่า เตรียมเปิดให้บริการคลังของสินค้าเร่งด่วน หรือ TAP Express Terminal เพิ่มขีดศักยภาพในการขนส่งสินค้ารองรับตลาดขนส่งทางอากาศที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะสนามบินดอนเมือง หรือ ทดม.

ซึ่งเป็นฮับสายการบินโลว์คอสต์ของอาเซียนครอบคลุมหลายเส้นทางในภูมิภาค นอกจากนี้ยังรองรับตลาดอีคอมเมิร์ซที่ขยายตัวเต็มที่จากประชากรรุ่นใหม่จำนวนมากในอาเซียน-จีน ตลอดจนรองรับยอดขนส่งสินค้าของสนามบินสุวรรณภูมิในขณะนี้มีความหนาแน่นมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดร.พีรกันต์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับคลังสินค้าเร่งด่วนนั้นในรูปแบบ One Stop Service ในช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้ โดยมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการคลังสินค้าโดยตรง เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ครอบคลุมหลายประเทศอาเซียนโดยเฉพาะตลาดใหญ่ 260 ล้านคนอย่างอินโดนีเซีย และอีคอมเมิร์ซบูมมิ่งอย่างมาเลเซีย โดยบริษัทได้จับมือกับสายการบินโลว์คอสต์ในอาเซียน อาทิ สายการบินแอร์เอเชีย สายการบินไทยไลออนแอร์ สายการบินมาร์ลินโด้ สายการบินแอร์เอเชียอินโดนีเซีย สายการบินแอร์เอเชียมาเลเซีย และสายการบินนกแอร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ TAP Express Terminal นั้น อยู่ภายใต้มาตรฐานของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAOโดยถือเป็นการให้บริการในรูปแบบ Multi Modal Transport หรือการเชื่อมต่อการขนส่งในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ ครอบคลุมในทุกภาคอุตสาหกรรม และเตรียมขยายการให้บริการสู่รูปแบบ Express ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ และจะถือว่า TAP Cargo Express Terminal เป็นรายแรกในประเทศไทยที่ให้บริการในรูปแบบดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในอนาคต เตรียมผนึกความร่วมมือกับผู้ให้บริการขนส่ง อาทิ Kerry, SCG, DHL, FedEx และ TNT ด้วย

นอกจากนี้ ในอนาคตเตรียมลงทุนเพิ่ม 100 ล้านบาท ในการให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศของ TAP Cargo Terminal นั้น จะเป็นการส่งข้อมูลจะเป็นในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ EDI ทั้งยังเป็นการสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงการให้บริการแพคกิ้งกล่อง UN (UN Boxes) ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุสินค้าอันตรายสำหรับการขนส่งทางอากาศโดยเฉพาะ ทนต่อแรงกระแทกและไฟ โดยในขณะนี้ อยู่ระหว่างการขออนุญาตการเปิดให้บริการ ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งเป้าจะเข้ามาใช้บริการ TAP Cargo Terminal นั้น คือ กลุ่มผู้ส่งออกและผู้นำเข้า สายการบิน บริษัทด้านโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการ E-Commerce ที่จะส่งออกไปต่างประเทศหรือเข้ามาในประเทศ โดยเน้นการให้บริการด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีราคาที่เป็นธรรม

ด้านนาวาอากาศโทสุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สนามบินดอนเมืองมีศักยภาพที่จะลงทุนกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศไทย-อาเซียน ปัจจุบันสนามบินรองรับสินค้าได้ปีละ 1 ล้านตัน แต่มีปริมาณสินค้าเพียงไม่ถึง 1 แสนตันต่อปี นั่นเท่ากับว่ามีอัพไซต์ให้กิจการได้เติบโตได้อีกมากสอดรับกับตลาดสายการบินโลว์คอสต์ที่แข่งขันรุนแรงจนต้องมองหาการแตกไลน์ธุรกิจบริการ นอกจากนี้ในอนาคตจะพัฒนาดอนเมืองเฟส 3 ซึ่งจะทำไห้รองรับ
เที่ยวบินและผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอย่างมากอีกด้วย

รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 พบว่าปริมาณการขนส่งสินค้าใน 6 สนามบินหลักของ ทอท. รวมทั้งสิ้น 1.24 ล้านตันเพิ่มขึ้น 5.91% แบ่งเป็น ยอดขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 1.17 ล้านตัน ขยายตัว 8.16% และยอดขนส่งสินค้าภายในประเทศ 7.07 หมื่นตัน ลดลง 21% สำหรับสนามบินที่มียอดขนส่งมากสุด 3 อันดับแรกได้แก่ 1.สนามบินสุวรรณภูมิ 1.13 ล้านตัน 2.สนามบินภูเก็ต 4.62 หมื่นตัน และสนามบินดอนเมือง 4.41 หมื่นตัน