สนข.หยั่งเสียง‘ชาวอยุธยา’ พัฒนาเมืองต้นแบบ TOD ภาคกลาง

สนข.เตรียมพัฒนา “อยุธยา” สู่เมืองต้นแบบ TOD ภาคกลาง หลังพบ GDP อยู่อันดับ 5 ของไทย หวังช่วยหนุนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์พ่วงกระจายความเจริญ-กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หากมีการพัฒนาโครงข่ายระบบรางทั่วประเทศในอนาคตแล้ว จะทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development: TOD) ซึ่งไม่เพียงเอื้อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่แบบผสมผสานและการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนและการเดินทางแบบไม่ใช้เครื่องยนต์ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในท้องถิ่น ให้สามารถเดินทางได้อย่างคล่องตัว และสามารถสร้างความสุขในเมืองของตนได้ หากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน

โดยการสัมมนาครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่เปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ สำหรับการกำหนดกรอบพื้นที่เพื่อการจัดทำผังเฉพาะ (Specific Plan) พื้นที่ในรัศมี 3 กม. รอบสถานีรถไฟอยุธยา และกำหนดประเด็นสำคัญเพื่อการออกแบบพัฒนาพื้นที่เมืองต้นแบบ TOD จ.พระนครศรีอยุธยา จากนั้นจะต่อยอดการทำงานในลักษณะเครือข่ายร่วมพัฒนาเมืองต้นแบบ ตั้งแต่การร่วมให้ข้อมูล ความต้องการ แนวคิดและแนวทางในการพัฒนาที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ เมืองต้นแบบ TOD ได้พิจารณาจากศักยภาพ โอกาส และความพร้อมโดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ 1. เศรษฐกิจเข้มแข็ง โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Gross Regional and Provincial Product (GPP) นอกภาคเกษตรสูง 2. แหล่งงานขนาดใหญ่ โดยมีจำนวนการจ้างงานนอกภาคเกษตรสูง และมีจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวสูง 3. อัตราส่วนการเพิ่มของประชากรเมืองสูง และมีความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนา TOD เนื่องจากมีปัญหาจราจรติดขัดปัญหามลพิษทางอากาศภายในเมือง

4. พื้นที่มีความพร้อมในการพัฒนา เช่น เป็นเมืองที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ หรือมีแผนงาน/โครงการอยู่ในระยะเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง และระบบราง และเป็นเมืองเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติในแผนระยะแรกของการพัฒนาระบบราง มีความพร้อมด้านผังเมือง เช่น อยู่ในบริเวณที่สามารถดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องปรับแก้ผังเมืองรวมที่มีอยู่ องค์กรมีความพร้อมในการขับเคลื่อนการพัฒนาให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการพัฒนาเมือง ชุมชนให้ความร่วมมือและร่วมแรงร่วมใจ เพื่อดำเนินการกำกับดูแล ภาครัฐและเอกชนมีความพร้อมในการลงทุนพัฒนาโครงการ ของทั้งหน่วยงานภาครัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน หรือภาคเอกชนที่มีโครงการที่จะมาลงทุนพัฒนาพื้นที่
สำหรับ จ.พระนครศรีอยุธยา นับเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพการเติบโตด้านเศรษฐกิจและสังคมสูง โดยจากผลสำรวจในปี 2560 พบว่า เป็นจังหวัดที่มีอัตรา GPP สูงเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ในอันดับ 8 ของประเทศและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริเวณสถานีรถไฟอยุธยามีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค และบริเวณสถานีรถไฟชุมทางบ้านภาชี ถือเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางทางรถไฟสู่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในอนาคตมีแนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางขนาดใหญ่ผ่านจังหวัด เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา- หนองคาย เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาเมืองต้นแบบ TOD จะช่วยเพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ช่วยกระจายความเจริญและเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับ จ.พระนครศรียุธยา และจังหวัดใกล้เคียงต่อไป