บวท.อัดงบ 6,000 ล้านพัฒนา 2 สนามบินรับ EEC

บวท.เตรียมทุ่มงบ 6 พันล้าน ลุยพัฒนา 2 สนามบิน EEC ด้าน CEO ใหม่ คาดปีนี้กวาดรายได้ 1.5 หมื่นล้านบาท ฟันกำไร 2 พันล้าน

นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด หรือ บวท. เปิดเผยว่า จากอุตสาหกรรมการบินและตลาดท่องเที่ยวที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปริมาณการจราจรทางอากาศของภูมิภาคเอเซียแปซิฟิคที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.5% สูงกว่าทั้งภูมิภาคยุโรปอยู่ที่ 3.3% ต่อปี  และอเมริกาเหนือที่ 3.4% ต่อปีนั้น บวท.จึงมีแผนลงทุนเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถทางการบินของประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนโครงการก่อสร้างศูนย์กลางบังคับการบินแห่งใหม่บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ วงเงินลงทุน 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างอาคาร 1,000 ล้านบาทและค่าติดตั้งงานระบบอีก 2,000 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการ 2-3 ปีก่อนเปิดให้บริการ 

โดยศูนย์กลางบังคับการบินแห่งใหม่ สนามบินสุวรรณภูมินั้น จะเป็นฐานปฏิบัติการขนาดย่อยของศูนย์ควบคุมวิทยุการบินหลักซึ่งอยู่ที่ทุ่งมหาเมฆ ดังนั้นการลงทุนครั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการจราจรทางอากาศอีกทั้งยังเป็นระบบสำรองในกรณีที่ศูนย์ควบคุมหลักเกิดปัญหาขัดข้องอีกด้วย ขณะที่สนามบินอู่ตะเภาซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นสนามบินหลักของพื้นที่แนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC รวมถึงพัฒนาเป็นเมืองการบินเพื่อขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร 90 ล้านคนต่อปีนั้น มองว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ บวท.จำเป็นต้องลงทุนงานก่อสร้างอาคารและงานระบบควบคุมวิทยุการบิน วงเงินใกล้เคียงกับที่ลงทุนสุวรรณภูมิประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท 

นายสมนึก กล่าวต่ออีกว่า ตนเชื่อว่าการเชื่อมต่อสองสนามบิน EEC ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ดีนั้นจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นฮับทางการบินของภูมิภาคอาเซียนได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนลงทุนเดิม 7,000 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อระบบบริหารจราจรทางอากาศรูปแบบใหม่นั้น คาดว่าจะสามารถเปิดใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบในช่วงกลางปี 2562 ส่งผลให้สามารถเพิ่มปริมาณรองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 100% จากเดิม 2,600 เที่ยวบินต่อวันเป็น 5,200 เที่ยวบินต่อวัน สอดคล้องกับแผนจัดระเบียบน่านฟ้าเพื่อเพิ่มปริมาณเที่ยวบินในอนาคต

สำหรับรายได้ของ บวท.ในปี 2561 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาร 1.5 หมื่นล้านบาทหรือขยายตัว 6%จากปีก่อน คิดเป็นรายได้ที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วหรือกำไรประมาณ 2,000 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2562 คาดว่าจะมีรายได้ทั้งหมด 1.6 หมื่นล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องที่ 6-7% จากปัจจุบันสนับสนุนของปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น บวท.จึงมีแผนบริหารจัดการห้วงอากาศเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว โดยเริ่มจากปรับปรุงโครงสร้างเส้นทางบินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานพื้นที่ห้วงอากาศเพื่อความยืดหยุ่นในการใช้พื้นที่ (Flexible Use of Airspace: FUA) หลังจากนั้นจะใช้วิธีบริหารจราจรแบบ One-way Route กำหนดให้เที่ยวบินต้องบินทิศทางเดียวกันในเส้นทางการบิน เพื่อลดการเสียเวลาบนท้องฟ้าและลดปริมาณการดีเลย์ของเที่ยวบิน ตลอดจนเพิ่มปริมาณการรองรับเที่ยวบินได้ 1 เท่าตัว เป็น 2 ล้านเที่ยวบินต่อปีจากเดิม 1 ล้านเที่ยวบินต่อปี 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแผนจัดระเบียบจราจรดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในช่วงต้นปี 2562 โดยจะเริ่มจากหัวเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวในภาคอีสานและภาคใต้ รวมถึง 6 สนามบินหลักของ ทอท.ซึ่งถือว่ามีปริมาณเที่ยวบินจำนวนมากในแต่ละวัน อาทิ ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ อุดรธานี ขอนแก่นเป็นต้น ดังนั้นในปีหน้าพื้นที่เป้าหมายดังกล่าวจะลดปัญหาเครื่องบินดีเลย์และเพิ่มเที่ยวบินได้ เช่น เพิ่มไฟลท์บินจากวันละ 4 เที่ยวบินเป็นวันละ 8 เที่ยวบิน ทั้งนี้รูปแบบดังกล่าวนั้นจะทำให้เครื่องทุกลำบินไปในทิศทางเดียวกันลดปัญหาการบินสวนและการบินตัดห้วงอากาศซึ่งทำให้เสียเวลารอจำนวนมากในบางกรณี