ถอดโมเดล ‘เมืองเจิ้งโจว’ ปั้นเมืองการบิน EEC

“ท่าอากาศยานอู่ตะเภา” เล็งจับมือจีนใช้โมเดล ‘เมืองเจิ้งโจว’ พัฒนาเมืองการบิน EEC ปั้นฮับการบินจีน-อาเซียน ขณะเดียวกันเคาะสัมปทานเมืองการบิน 50 ปี เล็งขายทีโออาร์ 2 แสนล้าน ภายใน ต.ค.นี้ ก่อนดันเปิดประมูลต้นปี 62

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ กพอ. กล่าวว่า สำหรับเงื่อนไขการยื่นข้อเสนอโครงการนั้นจะเปิดให้เอกชนเสนอแนวทางพัฒนาอย่างอิสระ โดยจะลงทุน 100% หรือให้รัฐช่วยลงทุนบางส่วนก็ได้ แตกต่างจากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่รัฐบาลต้องใช้เงินลงทุนก่อน อย่างไรก็ตามสัดส่วนการถือหุ้นนั้นต้องเป็นไปตามกฎหมายของประเทศไทยทีกำหนดแยกประเภทธุรกิจไว้ บางกิจกรรมต่างชาติถือหุ้นได้ 100% บางกิจกรรมต่างชาติไม่สามารถถือหุ้นได้เกินสัดส่วนที่กำหนด

ขณะเดียวกันหลังจากจัดกิจกรรมโปรโมทโครงการในต่างประเทศพบว่าประเทศจีนนั้นสนใจส่งเอกชนเข้ามาลงทุนในพื้นที่แห่งนี้ ดังนั้นหลังจากนี้จะมีการพูดคุยถึงรายละเอียดต่อไป ทั้งนี้ บริษัทต่างชาติที่จะลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจเรื่องการส่งเสริมสิทธิพิเศษทางการลงทุนของบีโอไอ เรื่องมาตรฐานการบินของไอเคโอและเรื่องการส่งมอบพื้นที่ของรัฐบาล

นายคณิศ กล่าวต่ออีกว่า รัฐบาลจะพัฒนาเมืองระยอง-พัทยาให้เป็นมหานครทางการบินที่มีสนามบินอู่ตะเภาเป็นหัวใจพร้อมด้วยย่านการค้าและนิคมอุตสาหกรรมรายล้อม ดังนั้นภายใน 2 เดือน จะลงนามบันทึกความร่วมมือกับรัฐบาลจีน เพื่อนำโมเดลมหานครการบินของเมืองเจิ้งโจวมาเป็นโมเดลพัฒนาเมืองการบิน EEC คาดว่าปีหน้าจะสามารถเริ่มดำเนินแผนงานได้ ทั้งการเชื่อมโยงการบินและเทคโนโลยีเมืองการบินเป็นต้น โดยจะใช้เมืองเจิ้งโจวเป็นฮับการบินขนส่งสินค้า-ผู้โดยสารจากจีน และใช้เมืองการบิน EEC เป็นฮับการบินเชื่อม CLMV และอาเซียน ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านการเชื่อมต่อสนามบิน-ท่าเรือไปยังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น เกาะเสม็ด-พัทยา-หัวหิน อย่างไรก็ตามคาดว่าเมืองการบินจะใช้เวลาพัฒนาราว 10-15 ปี

ด้านพลเรือเอกโสภณ วัฒนมงคล ประธานกรรมการบริหารโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก กองทัพเรือ กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงิน 2 แสนล้านบาทว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดขายซองในเดือน ต.ค.นี้ ก่อนเปิดให้ประมูลโครงการและได้ตัวเอกชนก่อนช่วงต้นปีหน้า พร้อมลงมือก่อสร้างเดินหน้าโครงการภายในปี 2562 โดยจะใช้การลงทุนแบบ PPP Net Cost ด้วยระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี ทั้งนี้เอกชนจะได้รับสิทธิ์ในการจัดเก็บรายได้และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง โดยหน้าที่ความรับผิดชอบของเอกชน ได้แก่ ออกแบบและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับท่าอากาศยาน การลงทุนในการพัฒนาองค์ประกอบต่างๆ ของโครงการ และดำเนินการและบำรุงรักษาตลอดอายุสัญญา

ทั้งนี้ เอกชนมีสิทธิ์ที่จะรับรู้รายได้จากการดำเนินงานของท่าอากาศยานและองค์ประกอบอื่นๆ ของโครงการตลอดระยะเวลาสัญญา ซึ่งจากผลการศึกษาเบื้องต้น ผลตอบแทนการทางการเงิน พบว่า อัตราผลตอบแทนโครงการ (IRR) ได้แก่ 10.00 -12.00 % พื้นที่ทั้งหมด 6,500 ไร่ ประกอบด้วย ศูนย์ซ่อมอากาศยาน เขตการค้าปลอดภาษี อาคารผู้โดยสารขนาดใหญ่ (terminal) รันเวย์แห่งที่ 2 และอาคารขนถ่ายสินค้า พร้อมพื้นที่เปิดให้เอกชนลงทุนเชิงพาณิชย์อีก 200 ไร่
รายงานข่าวระบุว่า สำหรับเงื่อนไขการลงทุนในโครงการนี้เอกชนเป็นผู้ลงทุนงานขยายสนามบิน ก่อสร้างคลังสินค้าและคลังปลอดภาษี(Pilot Free Zone) รวมถึงพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Commercial Hub)และบริหารจัดเก็บรายได้แบ่งรัฐ (O&M) ส่วนรัฐจะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ มอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้าความเร็วสูงและเตรียมพื้นที่ก่อสร้างภายในสนามบินเป็นต้น อย่างไรก็ตามกองทัพเรือจะบริหารสนามบินอู่ตะเภาไปจนกว่าอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 จะเปิดใช้งานในปี 2567

อย่างไรก็ตาม สำหรับอัลติเมทเฟสของสนามบินอู่ตะเภานั้นปัจจุบันยังอยู่ระหว่างสรุปแผนแม่บทซึ่งมี 2 ทางเลือก ได้แก่ 1.เน้น Comercial-Hub ได้แก่ อาคาร
ผู้โดยสารหลังที่ 3 พื้นที่ 280,000 ตร.ม. อาคารเทียบเครื่องบินรอง (Sattelite Terminal) พื้นที่ 100,000 ตร.ม. และหลุมจอดเครื่องบิน 49 หลุม 2.เน้น Transit-Hub ได้แก่ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 พื้นที่ 100,000 ตร.ม. อาคารผู้โดยสารหลังที่ 4 พื้นที่ 280,000 ตร.ม. และหลุมจอดเครื่องบิน 61 หลุม นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาการก่อสร้างรันเวย์คู่เพื่อเพิ่ทขีดการรองรับเที่ยวบินต่อชั่วโมงอีกด้วย