‘สุริยะ‘ ขนทัพ ’คมนาคม‘ เยือนแดนมังกร ร่วมประชุมไฮสปีดเทรนไทย-จีน ครั้งที่ 31 ติดตามความคืบเฟส 1 พร้อมเร่งเฟส 2 ‘โคราช-หนองคาย’ พ่วง Roadshow ‘แลนด์บริดจ์‘

“สุริยะ” เตรียมขนทัพ ”คมนาคม“ เยือนจีน 6-15 พ.ค. นี้ ร่วมประชุมคณะกรรมการความร่วมมือโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ครั้งที่ 31 นอกสถานที่ในรอบ 5 ปี ติดตามความคืบหน้าระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-โคราชให้แล้วเสร็จตามแผน ลุยเร่งรัดก่อสร้างระยะที่ 2 โคราช-หนองคาย ดันไทยศูนย์กลางการเดินทาง-ขนส่งสินค้าอย่างไร้รอยต่อ พร้อมเดินหน้า Roadshow โปรเจกต์ “แลนด์บริดจ์” ดึงนักลงทุนชาวจีน-หารือด้านการคมนาคมทุกมิติ หวังนำมาประยุกต์ใช้ในไทย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 6 -15 พฤษภาคม 2567 มีกำหนดเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน (JC) ครั้งที่ 31 และการประชุมหารือด้านการคมนาคมขนส่งกับหน่วยงานภาครัฐของจีน โดยในการประชุมครั้งดังกล่าว จะมีปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องร่วมคณะเดินทาง และเข้าร่วมประชุมด้วย

ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 31 จะจัดการประชุมขึ้นในวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 เพื่อติดตามเร่งรัดการดำเนินการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาค และผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) ให้ดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนงาน และสามารถเปิดใช้ได้ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ จะเร่งรัดการก่อสร้างในระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 356 กม. ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ซึ่งในปัจจุบันได้ออกแบบงานโยธา และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จ และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับการประชุมความร่วมมือครั้งที่ 31 นั้น จะมีการการจัดทำรายงานผลดำเนินงานความคืบหน้าของโครงการ และแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานเพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูงแล้วเสร็จโดยเร็ว สามารถรองรับการใช้งานของประชาชนได้อย่างสมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างศักยภาพระบบราง พัฒนาโครงข่ายเส้นทางการคมนาคมของประเทศไทยเชื่อมโยงสู่เมืองหลัก อีกทั้ง เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้า และการเดินทางของภูมิภาคอย่างไร้รอยต่อ รองรับการขยายตัวของจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงปริมาณผู้ใช้บริการที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 31 นั้น ยังมีกำหนดการ Roadshow เชิญชวนนักลงทุนชาวจีน ร่วมลงทุนในโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย – อันดามัน (ชุมพร – ระนอง) หรือแลนด์บริดจ์ ซึ่งจะเป็นช่องทางการค้าแห่งใหม่เพื่อใช้เป็นเส้นทางขนถ่ายสินค้าหลักระดับภูมิภาคและจะเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชีย และช่วยลดระยะเวลาการขนส่งทางทะเล ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง อีกทั้งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางการค้าด้วย

นอกจากนี้ ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 มีกำหนดการหารือร่วมกับผู้บริหารท่าอากาศยานนานาชาติกรุงปักกิ่ง และเยี่ยมชมท่าอากาศยานนานาชาติกรุงปักกิ่ง ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเยี่ยมชมระบบการบริหารจัดการรถบรรทุก พร้อมทั้งเยี่ยมชมท่าเรือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Port) รวมถึงประชุมหารือกับผู้บริหารสถานีรถไฟเซี่ยงไฮ้ และเยี่ยมชมระบบควบคุมการจราจรด้านระบบราง เพื่อนำข้อมูลแนวทางการดำเนินการต่าง ๆ มาพัฒนาและประยุกต์ใช้กับการคมนาคม ขนส่ง โลจิสติกส์ของประเทศไทยต่อไป

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การเดินทางไปประชุม JC ระดับรัฐมนตรี ในโครงการไฮสปีดไทย – จีนครั้งที่ 31 นี้ ถือเป็นการฟื้นการเจรจาร่วมโต๊ะการประชุมเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี เนื่องจากช่วงรัฐบาลก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการเดินทางมาร่วมการประชุม เนื่องจากติดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ส่งผลให้ฝ่ายไทยและจีนไม่ได้เดินทางเพื่อเข้าร่วมการประชุม แต่เป็นการประชุมผ่านระบบทางไกล Video Conference

สำหรับโครงการไฮสปีดเทรนไทย – จีน ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ปัจจุบันพบว่าข้อมูล ณ วันที่ 25 มี.ค. 2567 ภาพรวมการก่อสร้างมีความคืบหน้าประมาณ 32.31% ล่าช้าประมาณ 28.76% เหลือรอลงนามสัญญาอีก 2 สัญญา จากทั้งหมด 14 สัญญา โดยกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างเร่งรัด และยังมีเป้าหมายเปิดให้บริการในปี 2571

ส่วนระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา บอร์ด ร.ฟ.ท.มีมติอนุมัติไฮสปีดไทย – จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร วงเงินรวม 341,351 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น ค่างานก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูง 235,129 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน 10,310 ล้านบาท ค่าลงทุนระบบราง-ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล 80,165 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการ ควบคุมงานและรับรองระบบ 10,060 ล้านบาท

โดยโครงการไฮสปีดไทย – จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดของโครงการแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างรอเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยขั้นตอนภายหลังบอร์ด ร.ฟ.ท.อนุมัติให้ดำเนินโครงการแล้ว จะรายงานไปยังกระทรวงคมนาคม และเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติเปิดประกวดราคางานก่อสร้างต่อไป

สำหรับแผนงานเบื้องต้น คาดว่าจะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) ภายในปี 2568 โดยจะแบ่งออกเป็นงานโยธา 13 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาแนวเส้นทาง 11 สัญญา มีมูลค่า 20,000 ล้านบาทต่อสัญญา สัญญาศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย 1 สัญญา และสัญญาศูนย์ซ่อมบำรุงนาทา 1 สัญญา ส่วนสัญญางานระบบราง ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล จะรวมเป็น 1 สัญญา

ทั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างงานโยธา 4 ปี หรือ 48 เดือน โดยการก่อสร้างงานโยธา จะแบ่งเป็น ทางวิ่งยกระดับ ระยะทาง 202.48 กิโลเมตร ทางวิ่งระดับดิน ระยะทาง 154.64 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมี 5 สถานีใหญ่ ประกอบด้วย 1.สถานีบัวใหญ่  2.สถานีบ้านไผ่ 3.สถานีขอนแก่น 4.สถานีอุดรธานี และ 5.สถานีหนองคาย เบื้องต้นคาดว่าดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2573 พร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2574