‘สุรพงษ์’ คิกออฟลดอุบัติเหตุทางถนน ‘สงกรานต์ 67’ สั่งเข้มห้ามรถเถื่อน ‘มอไซค์วิน-แท็กซี่’ เข้าหมอชิต 2 ขู่เอาจริง! ลุยลงโทษตาม พ.ร.บ.รถยนต์ปี 22

“สุรพงษ์” คิกออฟลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 67 “Smart Seamless เชื่อมรถ ต่อราง สะดวกเดินทาง สร้างความปลอดภัยในช่วงสงกรานต์” สั่งเข้มรถเถื่อน “มอไซค์-แท็กซี่” ห้ามเข้าสถานีขนส่งผู้โดยสาร จัดพื้นที่จอดชัดเจน ไม่คิดค่าบริการเพิ่ม ขู่เอาจริง! หากทำผิด โดนลงโทษตาม พ.ร.บ.รถยนต์แน่ พร้อมคาด 7 วัน 11-17 เม.ย.นี้ ประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะรวม 20.5 ล้านคน เพิ้มขึ้นจากปี 66 กว่า 23.95% ยันไม่มีผู้โดยสารตกค้าง-อุบัติเหตุเป็นศูนย์

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายและเปิดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 ภายใต้ชื่อ “Smart Seamless เชื่อมรถ ต่อราง สะดวกเดินทาง สร้างความปลอดภัยในช่วงสงกรานต์” วันนี้ (5 เม.ย. 2567) ว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 คาดการณ์ว่า การเดินทางของประชาชนด้วยขนส่งสาธารณะระหว่างจังหวัด ในช่วงวันที่ 11 – 17 เม.ย. 2567 รวม 7 วัน มีปริมาณผู้โดยสาร 2.05 ล้านคน-เที่ยว แบ่งเป็น รถ บขส. 772,730 คน, รถไฟระหว่างเมือง 645,600 คน และท่าอากาศยาน 629,365 คน ซึ่งเพิ่มจากเทศกาลสงกรานต์ ปี 2566 ประมาณ 23.95%

สำหรับเทศกาลสงกรานต์ 2567 นี้ กระทรวงคมนาคมได้คิกออฟนโยบาย “สะดวก สบาย ปลอดภัย ไร้รอยต่อ” และจะนำไปเป็นต้นแบบการให้บริการระบบขนส่งสาธาณณะต่อไปในอนาคต ไม่เพียงเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่จะต้องมีความสะดวกสบาย สามารถเชื่อมต่อการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะแบบไร้รอยต่อ ทั้งทางบก และทางราง “ล้อ-ราง” เช่น รถ บขส. รถเมล์, รถไฟ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ จะไม่มีผู้โดยสารตกค้าง รวมทั้งตั้งเป้าหมายไว้ว่า อุบัติเหตุต้องเป็น “ศูนย์”

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจการกรมการขนส่งทางบก เจ้าหน้าที่ตรวจการ บขส. เจ้าหน้าที่สายตรวจพิเศษ ขสมก. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดำเนินมาตรการเข้มข้นเพื่อป้องกันมิให้มิจฉาชีพเข้ามาหลอกลวง รบกวน หรือสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้โดยสาร ซึ่งได้ให้นโยบายว่า จะต้องไม่ให้มีรถจักรยานยนต์รับจ้างเถื่อน และรถแท็กซี่เถื่อนเข้ามาภายในบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารโดยเด็ดขาด โดย ขบ. และ บขส. ได้จัดพื้นที่จอดรถแท็กซี่อย่างชัดเจน และไม่คิดค่าบริการเพิ่มเติม รวมถึงรถจักรยานยนต์ที่จะเข้ามาให้บริการบริเวณจุดจอดที่กำหนดนั้น จะต้องมีการลงทะเบียนกับ ขบ. ไว้แล้วด้วย

ทั้งนี้ จากประสบการณ์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ที่ผ่านมา จึงมั่นใจว่า การบริหารจัดการระบบขนส่งสาธารณะในครั้งนี้ จะสร้างความพึงพอใจแก่ประชาชน ให้สามารถเข้าถึงง่าย เพียงพอไม่ล่าช้า ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง ไม่โก่งราคา ไม่ทิ้งผู้โดยสาร พร้อมทั้งบูรณาการระหว่างบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ในการรับ-ส่งผู้โดยสารอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง รวมถึงปรับปรุงทางเชื่อมให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น

ขณะเดียวกัน มอบหมายให้เตรียมการให้รถโดยสารสาธารณะทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สนับสนุนการทำหน้าที่ขนส่งรอง (Feeder) เชื่อมต่อสถานีรถไฟ สนามบิน ท่าเรือได้อย่างไร้รอยต่อทั่วประเทศ อีกทั้งการพัฒนาระบบการบริหารจัดการและระบบการจราจรภายในสถานีขนส่งผู้โดยสาร ได้มีการปรับรูปแบบการจราจร พื้นที่จอดรถ ชานชาลาสำหรับรถขาเข้า-ขาออก ในสถานีขนส่งผู้โดยสารให้มีระบบการจราจรที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ การบูรณาการร่วมระหว่างหน่วยงาน เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้กับประชาชน

อย่างไรก็ตาม แนะนำประชาชนให้จองตั๋วโดยสารล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนมีเวลาวางแผนการเดินทางได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้ผู้บริการระบบขนส่งสาธารณะ สามารถบริหารจัดการรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพียงพอต่อความต้องการเดินทาง ซึ่งในส่วนของ บขส. นั้น ได้จัดเตรียมรถเสริมไว้แล้วกว่า 900 คัน เช่นเดียวกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก็ได้จัดเตรียมขบวนรถไฟเสริมไว้แล้วด้วยเช่นกัน

รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ระบุว่า หากประชาชนที่ไม่ได้รับความสะดวกสบายในการเดินทาง หรือเดินทางด้วยรถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์ โดยเรียกค่าโดยสารแพงกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือไม่เป็นไปตามที่ให้นโยบายไว้ว่า ห้ามมีรถเถื่อนให้บริการนั้น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รถยนต์ พ.ศ. 2522 ได้กำหนดบทลงโทษ แบ่งเป็น รถแท็กซี่ 1.ไม่ใช้มาตรค่าโดยสาร มาตรา 5(2) ตามกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน พ.ศ. 2560 ข้อ 7 รถแท็กซี่ต้องมีและใช้มาตรค่าโดยสาร บทกำหนดโทษ มาตรา 58 ปรับไม่เกิน 1,000 บาท

2.ปฏิเสธผู้โดยสาร มาตรา 57 จัตวา ในขณะที่อยู่ระหว่างการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร ผู้ขับรถยนต์สาธารณะ หรือรถจักรยานยนต์สาธารณะจะปฏิเสธการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารมิได้ เว้นแต่การบรรทุกนั้นน่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ตนหรือแก่คนโดยสาร บทกำหนดโทษ มาตรา 66/2 ปรับไม่เกิน 1,000 บาท และ 3.เก็บค่าโดยสารเกิน มาตรา 66/5  ผู้ใดเก็บค่าโดยสารหรือค่าบริการอื่นเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดในกฎกระทรวง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

ขณะที่ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ได้แก่ 1.นำรถที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์รับจ้างมาใช้รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร มาตรา 23/1 นำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมารับจ้าง บทกำหนดโทษ มาตรา 66/1 ปรับไม่เกิน 2,000 บาท 2.ปฏิเสธผู้โดยสาร มาตรา 57 จัตวา ในขณะที่อยู่ระหว่างการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร ผู้ขับรถยนต์สาธารณะ หรือรถจักรยานยนต์สาธารณะจะปฏิเสธการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารมิได้ เว้นแต่การบรรทุกนั้นน่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ตนหรือแก่คนโดยสาร บทกำหนดโทษ มาตรา 66/2 ปรับไม่เกิน 1,000 บาท และ 3.เก็บค่าโดยสารเกิน มาตรา 66/5  ผู้ใดเก็บค่าโดยสารหรือค่าบริการอื่นเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดในกฎกระทรวง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท