’สุรพงษ์‘ มอบนโยบาย ’ขนส่งฯ‘ กางงบปี 67 กว่า 4.3 พันล้าน ลุยศูนย์ขนส่งชายแดน-เปลี่ยนถ่ายสินค้า 2 แห่ง จ่อ MOU รฟท. เชื่อมขนส่งจากถนนสู่ราง

”สุรพงษ์“ บุกมอบนโยบาย “ขนส่ง” ลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน จ่อตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาค่าโดยสารแท็กซี่ 2 กลุ่ม “รถสาธารณะ-ผ่านแอปฯ” ยันเดินหน้าต่อเนื่อง พร้อมกางงบปี 67 กว่า 4.3 พันล้าน เน้นยกระดับการให้บริการ ทุ่มลงทุนศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ เฟส 2-ศูนย์ขนส่งชายแดนนครพนม เตรียม MOU ร่วม รฟท. สนองนโยบายรัฐ เชื่อมขนส่งจากถนนสู่ราง

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ (12 ต.ค. 2566) ตนได้มอบนโยบายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ไปดำเนินการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในการใช้บริการของ ขบ. รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงานมากขึ้น และการแก้ปัญหาลดมลพิษ และฝุ่น PM 2.5 จากยานยนต์ รวมทั้งให้ ขบ. ไปพิจารณาจำนวนจดทะเบียนรถสะสมทั่วประเทศที่มี 44 ล้านคัน ให้สอดคล้องกับจำนวนใบอนุญาตขับรถ (ใบขับขี่) ที่มีกว่า 33 ล้านใบ เพื่อลดอุบัติเหตุทางท้องถนน เนื่องจากพบว่า กลุ่มวัยรุ่นที่มีรถ ขับรถได้ แต่ไม่มีใบขับขี่ เป็นต้น

ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องการปรับขึ้นค่าโดยสารของกลุ่มแท็กซี่ และรถจักยานยนต์ (จยย.) รับจ้าง ที่ผ่านมา กลุ่มแท็กซี่มองว่าค่าโดยสารของแท็กซี่สาธารณะมีราคาถูก ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ อย่างบริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด มีราคาที่สูงแต่กลับมีผู้ใช้บริการมากกว่า สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนเลือกใช้รถสาธารณะที่ให้ความสำคัญเรื่องบริการมากกว่าเรื่องราคา ดังนั้น ขบ. ต้องใช้องค์ความรู้ที่มีในการปรับสัดส่วนทั้ง 2 ฝ่าย รวมถึงบริหารจัดการให้สามารถดำเนินการร่วมกันได้

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า จากปัญหาดังกล่าว ตนสั่งการให้ ขบ. จัดตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดทันที รวมทั้งหารือร่วมกันทุกภาคส่วน โดยให้ภาครัฐดูแลรับผิดชอบผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่มีเงินทุนและเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถบริหารจัดการแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยีในราคาถูกที่สุด สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่า การจัดทำแอปพลิเคชั่นที่เป็นนโยบายของรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ กระทรวงฯ จะเดินหน้าต่อ ที่ผ่านมาการที่กลุ่มม็อบเข้าไปร้องเรื่องที่กระทรวงคมนาคม ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร มองว่าควรลงพื้นที่ร่วมกันทุกภาคส่วน เพื่อให้ข้อมูลมีความครอบคลุมทุกมิติ

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดี ขบ. กล่าวว่า จากปัญหาเรื่องแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารนั้น เบื้องต้นกรมฯ ได้มีการว่ากล่าวตักเตือนคนขับแท็กซี่ที่กระทำผิด และสั่งเข้มให้รักษามาตราฐาน ในการให้บริการประชาชนด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบัน ขบ. ได้มีการรองรับแอปพลิเคชั่นเรียกรถรับจ้างที่ประชาชนสามารถใช้เป็นทางเลือกในการเดินทางได้แล้ว จำนวน 7 ราย

สำหรับในปีงบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2567 นั้น นายจิรุตม์ กล่าวว่า ขบ. ได้เสนอขอรับการจัดสรรจำนวน 4,300 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นการงานบริการด้านขนส่ง รวมถึงงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย ระยะที่ 2 วงเงิน 649 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบผู้พัก 3 ปี (ปี 2566-2568) ส่วนปีงบประมาณ 2566 ได้รับจำนวน 3,500 ล้านบาท เบิกจ่ายงบประมาณได้ 88-89%

นอกจากนี้ ได้ขับเคลื่อนโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าในภูมิภาคต่อเนื่อง 2 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 4,212 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย วงเงิน 2,851 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ ได้แก่ งบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระยะ (เฟส) ที่ 1 วงเงิน 1,300 ล้านบาท และงบก่อสร้างระยะที่ 2 วงเงิน 636 ล้านบาท ส่วนงบประมาณที่เหลือเป็นการลงทุนของภาคเอกชนวงเงิน 915 ล้านบาท โดยเฟส 1 ขบ. ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และเปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่แล้ว ส่วนเฟส 2 ผู้รับจ้างเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา คาดใช้เวลา 3 ปี แล้วเสร็จในปี 2568

สำหรับผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP)  โดยมี บริษัท เค.เอ็น.อาร์ กรุ๊พ จำกัด เป็นผู้ร่วมประมูลรายเดียว ขณะนี้ อยู่ระหว่างการตรวจร่างสัญญาของอัยการสูงสุด จากนั้นจะเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน ก่อนลงนามกับเอกชนต้นปี 2567 เพื่อให้เอกชนเข้าไปบริหารศูนย์ขนส่งสินค้าเชียงของต่อไป โดยมีอายุสัมปทาน 15 ปี

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม วงเงิน 1,361 ล้านบาท ในส่วนของภาครัฐดำเนินการก่อสร้างมีความคืบหน้าล่าสุด (ก.ย. 2566) กว่า 25.578% เร็วกว่าแผน 3.723% ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างงานระบบระบายน้ำ งานถนนและลานคอนกรีตเสริมเหล็ก งานฐานรากอาคารต่างๆ งานทางลอด (Underpass) สำหรับรถบรรทุกเข้า-ออกโครงการ คาดกำหนดแล้วเสร็จปลายปี 2567 เปิดบริการปี 2568 อย่างไรก็ตาม ขบ. ยังอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าในพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี คาดว่า จะเสนอ ครม. ภายในต้นปี 2567

นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ขบ. เตรียมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อบูรณาการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าจากการขนส่งทางถนนไปสู่ระบบราง ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้การขนส่งสินค้าทางรางเป็นกระดูกสันหลังใหญ่ในการขนส่งของประเทศ อีกทั้งขับเคลื่อนนโยบายเพื่อเปิดประตูการค้า ก้าวเป็นศูนย์กลาง (HUB) เชื่อมโยงการเดินทางด้วย

ทั้งนี้ ขบ. ได้จัดเตรียมพื้นที่ในการสร้างเส้นทางรถไฟไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อเชื่อมต่อศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ขณะที่ศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม จะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-นครพนม และเชื่อมไปยัง สปป.ลาว-จีนต่อไป