สร้างสรรค์พลังบวกในที่ทำงานด้วยพลัง “Empathy” เติมเต็มความต้องการ สร้างความเข้าใจตนเองและคนอื่น

สร้างสรรค์พลังบวก ทำให้ที่ทำงานเป็น Happy Workplace ลดละเลิกการสร้างพลังลบ หรือ Toxic Environment ในที่ทำงาน เพื่อให้ทุกคนในที่ทำงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แบบได้ทั้งงานและความรู้สึกที่ดีกับคนร่วมงาน  ดร.พสุธิดา ตันตราจิณผู้อำนวยการสายงานทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) หน่วยงานที่ได้รับรางวัล The Best Learning and Development ปีล่าสุดจากสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทยขอมาเล่าให้ทุกคนฟัง

ต้นเหตุคือขาดความต้องการพื้นฐาน หรือทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์

ในทางทฤษฎีด้านทรัพยากรบุคคลจะมองว่า ต้นต่อสาเหตุของปัญหาที่คนกระทบกระทั่งเบียดเบียนกัน ส่วนสำคัญเกิดจากการขาดความต้องการของมนุษย์ 5 ข้อ หรืออิงตามทฤษฎีของมาสโลว์ ซึ่งความต้องการสิ่งที่พร่องนี้เป็นปัจจัยในการกระตุ้นให้เกิดผลลัพธ์ทั้งในแง่ ผู้กระทำ และ ผู้ถูกกระทำ จากลักษณะทางธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการเติมเต็มในส่วนที่ขาดหายไปของชีวิต จนทำให้เกิดปัญหาสังคมหรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นพิษ Toxic Workplace หรือ Toxic Work Environment ทำให้บรรยากาศรอบตัวในที่ทำงานเป็นมลพิษ ส่งผลร้ายต่อสุขภาพจิตและทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวมลดลงดร.พสุธิดา เริ่มเปิดประเด็น

ตามสมมติฐานแรก เราทุกคนเข้าทำงานเพราะเราชื่นชอบงานและองค์กรนั้นๆ จึงทำให้เราไปสมัครงานและได้งานทำฉะนั้นอะไรที่มันไม่ได้กระทบจิตใจหรือร่างกายรุนแรงจริง ก็จะไม่มีใครที่จะลาออกง่ายๆ แม้จะเป็นเด็กๆ รุ่นใหม่ที่บอกกันว่าความอดทนต่ำ ต่างก็ไม่ใช่ว่าจะอยากเปลี่ยนงานง่ายๆ เพราะการเปลี่ยนงานก็นำมาซึ่งการต้องทำอะไรหลายอย่าง ทั้งต้องตอบคำถามกับคนรอบตัว ทั้งการต้องระวังรายจ่ายที่ผูกพันอยู่ ทีนี้สิ่งที่ผลักดันให้มีเรื่องการลาออกในทุกองค์กรแสดงว่าต้องเป็นเรื่องที่รุนแรง ในทฤษฎีของมาสโลว์บอกไว้ว่า มนุษย์มีความต้องการพื้นฐานตามลำดับเริ่มจาก 1.ความต้องการพื้นฐานทางด้านร่างกาย 2.ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย 3.ความต้องการความรักและสังคม 4.ความต้องการการได้รับการยกย่องนับถือในตนเอง 5.ความต้องการพัฒนาศักยภาพของตน ข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อรวมกันก็ได้ ดังนั้นหากมนุษย์ขาดความต้องการพื้นฐานข้อไหน ลดพร่องลงไป มนุษย์จะเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่สบายใจ ซึ่งก็จะมีปฏิกริยาแสดงออกมาในที่ทำงาน ทั้งความโลภ โกรธ หลง และ นำไปสู่บรรยากาศที่ไม่ดี จบด้วยมีใครสักคนเกิดการลาออก 

ประโยคยอดฮิตที่เรามักได้ยิน เช่น หัวหน้าไม่มีภาวะผู้นำ ขาด Leadership มีแต่ Leader-shit หรือ   Boss ไม่ให้เครดิตทีมงาน หรือ คนที่เก่งกว่าดูถูกด้อยค่าเพื่อนร่วมงานที่เก่งน้อยกว่า การแบ่งแยกชนชั้น การบูลลี่กันในที่ทำงานเหล่านี้ล้วนสร้างบรรยากาศที่ไม่ดีในที่ทำงาน จำเป็นต้องลดละเลิก เพราะพอใครสักคนเริ่มมีพลังงานลบ ก็จะเป็นชนวนเชื่อมโยงกันไปหมด อาจจะกระทบไปถึงที่บ้านด้วย เพราะพอกลับบ้านก็ยังรู้สึกหงุดหงิดโมโห เอาพลังลบไปลงกับคนที่บ้าน หรือไม่ก็เกิดปัญหาสุขภาพจิต ซึมเศร้า ดังนั้นปัญหาเหล่านี้จึงไม่ใช่จบแค่การลาออก  หน้าที่ของฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ดีจึงต้องช่วยดูเรื่องนี้ด้วย

ดร.พสุธิดา แนะนำถึงวิธีการสร้างบรรยากาศในการทำงานให้เป็นเชิงบวก และ รักษาพนักงานที่มีความรู้ความสามารถให้อยู่กับองค์กรไปนานๆ อันจะช่วยลดปัญหาเรื่องการ Turnover ที่สูง และลดกระบวนการสรรหาพนักงานใหม่ ต้องอาศัยการสื่อสารที่จริงใจและจริงจังพูดคุยกันแบบเปิดอกเพื่อหาทางร่วมกันแก้ไขปัญหา หากรู้ปัญหาได้รวดเร็ว ก็จะยิ่งแก้ไขได้ง่าย

เพื่อช่วยประคับประคอง Unit ต่างๆให้ดำเนินงานไปได้ด้วยดี เราจึงต้องมีหูตาที่ว่องไว พร้อมที่จะเข้าไปแนะนำและช่วยเหลือ การพูดคุยถามไถ่กันเป็นประจำเป็นเรื่องที่ดี  บางกรณีอาจเกิดความเข้าใจผิดกับเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างาน เมื่อได้มีโอกาสพูดคุยกัน ก็ช่วยให้บรรยากาศที่ตึงเครียดนั้นผ่อนคลายลง อีกเรื่องคือการให้ความสำคัญกับคนในทีม แน่นอนว่าเราทุกคนทำงานต่างต้องการได้รับการยอมรับ ซึ่งเป็นหนึ่งในความต้องการขั้นพื้นฐานตามทฤษฎีของมาสโลว์ สิ่งที่เราแนะนำได้คือ การให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในโปรเจคสำคัญๆ โดยให้เขาได้แสดงความคิดเห็น แสดงฝีมือการทำงาน หรือที่เรียกว่าฉายแสงจนทำให้คนรุ่นใหม่ หรือคนในทีมเกิดความภูมิใจในองค์กร หัวหน้างานก็ยอมรับ

หลังจากเราใช้การสื่อสารเข้ามาแก้ปัญหาพลังลบ ที่เกิดจากความต้องการขั้นพื้นฐานไม่ได้รับการตอบสนองแล้วเคล็ดลับสำคัญต่อไปคือ การสร้างพลังบวก (Positive Energy) ในที่ทำงานด้วยพลังความเข้าใจ และ ความเห็นอกเห็นใจ หรือ “Empathy” เราอาจจะเข้าใจแล้วว่าทุกคนไม่ต้องการพลังลบ แต่ในอีกทางหนึ่ง เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่าทุกคนต้องการเติบโต ต้องการพัฒนาตนเอง ส่วนนี้ต้องอาศัยการเสริมทักษะให้พนักงานได้พัฒนาตนเอง ถือเป็นขั้นที่2 ของการแก้ไขปัญหาความ Toxic ในองค์กร

เป้าหมายการพัฒนาตนเองคือหัวใจที่ทำให้องค์กรเติบโตตามไปด้วย

ดร.พสุธิดา กล่าวต่อไปว่าองค์กรต้องปลุกยักษ์ในตัวทุกคนให้ตื่น สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนอยากเติบโต อยากก้าวหน้า อยากพัฒนาตนเอง เราต้องเติมความกระตือรือร้น มีการตั้งเป้าหมาย และมีการวัดผลอย่างสม่ำเสมอ

สิ่งที่ DPU ทำ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำก็คือ เราไม่เคยละเลยในเรื่องของการUpskill และ Reskill ให้กับบุคลากร พัฒนา Growth Mindset ให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรักการเรียนรู้ มีความกล้าหาญ กล้าคิดกล้าลอง ไม่กลัวการล้มเหลว รับมือกับสิ่งใหม่ๆเสมอ ชอบลงมือทำไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่พร้อมก็ตาม ด้วยพลังความอดทน ความพยายามต่อเนื่อง ผสมผสานกับการมองเชิงบวก มองไปข้างหน้าเพื่ออนาคต คนเราต้องชอบแก้ไขปัญหา โดยไม่เสียเวลาไปกับการพร่ำบ่น เป็นคนยอมรับและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเสมอ มีความสุภาพอ่อนน้อม ไม่อวดตัวข่มผู้อื่น มีความปรารถนาดีต่อตนเองและคนรอบข้าง มีเมตตาต่อผู้อื่น และเชื่อในศักยภาพของตัวเองและผู้อื่น ทั้งหมดนี้ถือเป็นพฤติกรรมที่จะทำให้ทุกคนสามารถเติบโตตาม Career Path ของตนเอง ดังนั้น เมื่อคนในองค์กรมีการเติบโต ก็จะช่วยให้องค์กรเติบโตตามด้วยเช่นกัน

สร้างน้ำหอมในที่ทำงาน

ดร.พสุธิดา บอกต่อถึงองค์กรในฝันที่เต็มไปด้วยพลังบวก สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยทักษะของ Empathy  “ความเข้าใจและการเห็นอกเห็นใจการทักทาย พูดจาที่ดีต่อกัน มีความคิดที่ดีต่อกัน การมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจ จะช่วยสร้างพลังบวกให้กับองค์กร ทำให้องค์กรเป็นองค์กรที่น่าอยู่ มีความเป็นเอกภาพ เราทุกคนสามารถเริ่มได้ตั้งแต่เวลานี้ และ สามารถทำได้กับทุกคน ไม่ว่าในหน่วยงานเดียวกัน หรือข้ามหน่วยงาน สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนในองค์กรเชื่อมโยงกัน ทำให้ทุกคนมีความสุขและส่งต่อความสุขให้แก่กัน เป็นดั่งน้ำหอมอบอวลในที่ทำงาน

กิจกรรมต่างๆ ในองค์กรจึงถูกออกแบบเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้นๆ เช่น งานกีฬา งานสัมมนา ต้องมีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน เพื่อสร้างบรรยากาศของความเข้าใจ การเห็นอกเห็นใจ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นอกจากนี้ แต่ละคนอาจจะมีวิธีการสร้างพื้นที่ปลอดภัยและพลังบวกให้กับตัวเอง อย่างการไปเที่ยวทะเลภูเขา ใช้ธรรมชาติบำบัด การฟังเพลง การวาดรูป ระบายสี

อยากจะแนะนำให้ทุกหน่วยงานในองค์กร ลองจัด Coffee Talk เดือนละครั้ง ให้ทุกคนได้พุดคุยกัน ไม่ใช่ว่ามีแต่การสื่อสารจากบนลงล่างเพียงอย่างเดียว แต่ session ของ Coffee Talk จะช่วยเพิ่มพลังบวก ลดพลังลบ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เชื่อว่าปัญหาทุกอย่างจะสามารถคลี่คลายได้ ถ้าทุกคนเข้าใจกัน เห็นอกเห็นใจกัน และร่วมกันแนะแนวทางใหม่ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในที่ทำงาน ในช่วงโควิดระบาด ได้มีโอกาสเป็นโค้ชจิตอาสาบรรเทาความทุกข์ใจ พบว่าการมี Empathy การเข้าอกเข้าใจคน และการรับฟังอย่างตั้งใจ คือหัวใจของการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพดร.พสุธิดา กล่าวทิ้งท้าย