ครม.ไฟเขียวเพิ่มวงเงินสร้างมอเตอร์เวย์ M6 จำนวน 12 ตอน 4.9 พันล้าน จ่อเปิดวิ่งฟรีสิ้นปีนี้ 80 กม. ก่อนเปิดเต็มรูปแบบในปี 68

ครม. ไฟเขียวเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างงานโยธา มอเตอร์เวย์ M6 “บางปะอินโคราชจำนวน 12 ตอน มูลค่า 4.9 พันล้าน พร้อมตั้งคณะกรรมการฯ ตรวจสอบงานก่อสร้างไปแล้วมูลค่า 1.7 พันล้าน ด้านศักดิ์สยามสั่งทางหลวงเร่งรัดก่อสร้าง เตรียมเปิดทดลองวิ่งฟรี 80 กม. ช่วงสิ้นปีนี้ คาดเปิดเต็มรูปแบบตลอดเส้นทางภายในปี 68

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) ระบุว่า ตามที่ ทล.ได้เริ่มดำเนินงานก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 6 (M6) สายบางปะอินนครราชสีมา ในส่วนของงานโยธา มาตั้งแต่ปี 2559 โดยแบ่งงานออกเป็น 40 ตอน ปัจจุบัน ก่อสร้างแล้วเสร็จ 24 ตอน ส่วนอีก 16 ตอน ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากติดปัญหาอุปสรรคใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.สภาพพื้นที่ในสนามที่ทำการก่อสร้างได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 2.ปรับปรุงรูปแบบทางวิศวกรรมให้สอดคล้องกับสภาพทางกายภาพของพื้นที่ในปัจจุบัน

3.ปรับรูปแบบให้เหมาะสมสอดคล้องกับโครงสร้างสาธารณูปโภค หรือความจำเป็นของหน่วยงานที่โครงการฯ ตัดผ่าน และ 4.ปรับรูปแบบการก่อสร้างเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ และให้สอดคล้องกับโครงข่ายถนนที่ประชาชนใช้ทางในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องแก้ไขแบบก่อสร้าง ส่งผลให้ค่างานก่อสร้างเพิ่มขึ้น ซึ่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ติดตามและเร่งรัดให้กรมทางหลวงแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด

รายงานข่าวจาก ทล. ระบุต่อว่า วันนี้ (7 .. 2566) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติเห็นชอบเพิ่มวงเงินงบประมาณและขยายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณเพิ่มเติม โครงการดังกล่าว ในส่วนของงานโยธาที่ยังไม่ได้ดำเนินการจำนวน 12 ตอน วงเงินรวม 4,970 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • ตอน 1 กม. 0+000.000 – 7+332.494 วงเงิน 631.2045 ล้านบาท
  • ตอน 2 กม. 0+000.000 – 5+470.673 วงเงิน 70.3000 ล้านบาท
  • ตอน 4 กม. 9+008.350 – 15+000.000 วงเงิน 971.8108 ล้านบาท
  • ตอน 5 กม. 15+000.000 – 27+500.000 วงเงิน 69.1874 ล้านบาท
  • ตอน 18 กม. 72+328.075 – 74+300.000 วงเงิน 271.4985 ล้านบาท
  • ตอน 19 กม. 74+300.000 – 77+000.000 วงเงิน 596.7523 ล้านบาท
  • ตอน 20 กม. 77+000.000 – 82+500.000 วงเงิน 161.7828 ล้านบาท
  • ตอน 21 กม. 82+500.000 – 86+000.000 วงเงิน 1,310.1243 ล้านบาท
  • ตอน 23 กม. 102+000.000 – 110+900.000 วงเงิน 406.2323 ล้านบาท
  • ตอน 24 กม. 110+900.000 – 119+000.000 วงเงิน 26.4170 ล้านบาท
  • ตอน 34 กม. 140+040.000 – 141+810.000 วงเงิน 291.6938 ล้านบาท
  • ตอน 39 กม. 175+100.000 – 188+800.000  วงเงิน 163.7071 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทำให้วงเงินค่าก่อสร้าง รวม 40 ตอน เพิ่มขึ้นจากเดิม รวมเป็นจำนวนเงิน 66,165 ล้านบาท ซึ่งยังต่ำกว่ากรอบวงเงิน 69,970 ล้านบาท ตามมติ ครม.ที่เห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 8 มี.. 2559 สำหรับงานก่อสร้างที่ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน วงเงินประมาณ 1,785 ล้านบาทนั้น ทล. มีความจำเป็นต้องตรวจสอบรายละเอียดทั้งในส่วนของเนื้องาน และความรับผิดชอบของบริษัทผู้รับจ้างคู่สัญญาให้มีความละเอียดรอบคอบ

ดังนั้น จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการฯ โดยมีรองอธิบดีฝ่ายดำเนินงาน เป็นประธาน และตัวแทนหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านวิศวกรรม ระเบียบ กฎหมาย อาทิ สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สำนักงานอัยการสูงสุด กรมบัญชีกลาง สำนักกฏหมาย กระทรวงคมนาคม ร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบ ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ตามหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม ทล.จะเร่งรัดเดินหน้าการก่อสร้างงานโยธาในส่วนที่เหลือให้สามารถเปิดทดลองให้บริการได้โดยเร็วที่สุด โดยคาดว่าจะสามารถเปิดทดลองวิ่ง ช่วงปากช่องถึงทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร (กม.) ในช่วงปลายปี 2566 รวมถึงการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) เพื่อเร่งรัดงานติดตั้งระบบต่างๆ เช่น ระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง M-FLOW ระบบบริหารควบคุมการจราจร โดยคาดว่าจะเริ่มทดสอบระบบ พร้อมทยอยเปิดทดลองให้บริการได้ในปี 2567 และเปิดใช้บริการเส้นทางอย่างเต็มรูปแบบในปี 2568 ต่อไป