แบงค์โชว์กำไร 9 เดือน กราฟเขียวทุกสถาบัน แม้ ศก.ไทยยังคงเผชิญความผันผวนจากศก.โลกก็ตาม

การเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากผลกระทบของการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป รวมถึงสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจจีนซึ่งมีผลกระทบต่อจังหวะการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญของตลาดท่องเที่ยวไทย
ดังนั้น สิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศ จะให้ความสำคัญมากขึ้นคือเรื่องแผนการดำเนินธุรกิจที่จะทีระมัดระวังสูงขึ้น รววมถึงการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูง และให้สามารถรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการมองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อย SMEs และกลุ่มเปราะบาง
สำหรับผลการดำเนินงานรอบ 9 เดือน ปี 2565 ของธนาคารพาณิชย์ ยังถือว่ามีการปรับตัวดีขึ้นในทุกสถาบันการเงิน โดยเริ่มจาก
ทีเอ็มบีธนชาต กวาดกำไรสุทธิไปได้กว่า  3,715 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 58% ทั้งนี้ธนาคารถือได้ว่าเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากกลยุทธ์และแผนการรับมือกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ธนาคารได้วางไว้ตั้งแต่เริ่มต้นปี ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์การเติบโตสินเชื่อ การบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ และการเตรียมความพร้อมสำหรับดอกเบี้ยขาขึ้น
ขณะที่ ธนาคารกสิกรไทย 9 เดือน ฟันกำไรไปกว่า  32,579 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.73% ปัจจัยหลักเกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 8,261 ล้านบาท หรือ 9.32% จากรายได้ดอกเบี้ย เงินให้สินเชื่อซึ่งยังคงเป็นไปตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อใหม่ในกลุ่มลูกค้าบุคคล และกลุ่มลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร
ด้านธนาคารกรุงศรี แจ้งกำไรสุทธิ 23,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.3% หรือ 4,098 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่กลับมาอยู่ในระดับปกติ และการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ หากรวมรายการพิเศษจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นของ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (เงินติดล้อ) ในปี 2564 กำไรสุทธิลดลง 14.9% หรือจำนวน 4,087 ล้านบาท เงินให้สินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 3.9% หรือจำนวน 74,637 ล้านบาท จากสิ้นปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของสินเชื่อเพื่อธุรกิจ อันประกอบด้วยสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งที่ 6.0% และ 6.2% ตามลำดับ สอดคล้องกับการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจและอุปสงค์ภายในประเทศ
ธนาคารกรุงเทพ รายงานกำไรสุทธิจำนวน 21,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.7%  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 18.7% จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินให้สินเชื่อตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 2.28% สอดคล้องกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยและการบริหารจัดการสภาพคล่องของธนาคาร
สำหรับธนาคารกรุงไทย เผยผลประกอบการแข็งแกร่งกำไรสุทธิ 9 เดือน 25,588 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จากรายได้รวมที่ขยายตัวได้ดี และการเติบโตของสินเชื่ออย่างสมดุล โดยยึดมั่นแนวทางปรับดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง รายย่อย และ SMEs ปรับตัวรับมือความท้าทายทางเศรษฐกิจ และฟื้นธุรกิจได้อย่างราบรื่น