ส่อง! งบปี 66 ‘คมนาคม’ มูลค่า 2.28 แสนล้าน เผย ‘ทางหลวง’ ได้มากสุด 1.18 แสนล้าน

“คมนาคม” กางงบปี 66 วงเงิน 2.28 แสนล้าน เผย “ทางหลวง” หน่วยงานราชการนัมเบอร์วัน ได้รับจัดสรรงบมากสุด 1.18 แสนล้าน ด้าน “กรมรางฯ” น้อยสุด ได้ 116 ล้าน ส่วน “การรถไฟฯ” รัฐวิสาหกิจได้งบเยอะสุดกว่า 2.27 หมื่นล้าน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงงบประมาณประจำปี 2566 ของกระทรวงคมนาคม (งบแผ่นดิน) ว่า ในปี 2566 กระทรวงคมนาคม ได้รับการจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 228,930.28 ล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนราชการ 8 หน่วยงาน วงเงิน 180,312.92 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 5 หน่วยงาน วงเงิน 48,617.36 ล้านบาท โดยในวงเงินดังกล่าว แบ่งเป็น รายจ่ายลงทุน วงเงิน 201,510.96 ล้านบาท คิดเป็น 88.02% และรายจ่ายประจำ วงเงิน 27,419.32 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.98%

ทั้งนี้ กรมทางหลวง (ทล.) ถือเป็นหน่วยงานราชการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2566 มากที่สุด อยู่ที่วงเงิน 118,816.73 ล้านบาท รองลงมา คือ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ปี 2565 ได้รับการจัดสรร วงเงิน 47,108.91 ล้านบาท ในส่วนหน่วยงานราชการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2566 น้อยที่สุด คือ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) โดยได้รับการจัดสรรอยู่ที่วงเงิน 116.34 ล้านบาท

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า สำหรับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ถือเป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2566 มากที่สุด อยู่ที่วงเงิน 22,727.38 ล้านบาท รองลงมา คือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับการจัดสรร วงเงิน 21,524.79 ล้านบาท

ในส่วนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2566 น้อยที่สุด คือ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้รับการจัดสรรอยู่ที่วงเงิน 90.27 ล้านบาท โดยเป็นค่ากรรมสิทธิ์ที่ดิน ทั้งนี้ เหตุที่ กทพ.ได้รับงบประมาณน้อยนั้น เนื่องจากโครงการลงทุนต่างๆ ได้ใช้งบประมาณลงทุนจากแหล่งที่มาอื่นๆ เช่น เงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจ, เงินกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) เป็นต้น

สำหรับหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2566 นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้นนั้น ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม วงเงิน 514.50 ล้านบาท, กรมเจ้าท่า (จท.) วงเงิน 4,707.40 ล้านบาท, กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) วงเงิน 3,545.81 ล้านบาท, กรมท่าอากาศยาน (ทย.) วงเงิน 5,221.20 ล้านบาท, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) วงเงิน 282.12 ล้านบาท, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) วงเงิน 4,074.13 ล้านบาท, สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) วงเงิน 200.79 ล้านบาท

สำหรับปีงบประมาณ 2566 ได้ให้หน่วยงานจัดทำแผนการลงนามในสัญญา โดยรายการปีเดียวให้ลงนามในสัญญาแล้วเสร็จภายใน ธ.ค. 2565 และรายการผูกพันใหม่ให้ลงนามในสัญญาแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 พร้อมทั้งจัดทำแผนการเบิกจ่ายในแต่ละเดือน เพื่อสามารถเบิกจ่ายเงินให้ได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล รวมทั้งให้หน่วยงานเตรียมดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างของปี 2566 เพื่อให้สามารถลงนามในสัญญาและเบิกจ่ายเงินได้ทันทีภายหลัง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2566 ประกาศบังคับใช้