ลุ้น! ทอท.ฝันปี 67 พลิกทำกำไรแตะ 5.2 หมื่นล้าน หวังโต 1 เท่าเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 คาดปี 66 ผู้โดยสารฟื้นตัว 66% รวม 6 สนามบินกว่า 94 ล้านคน

ทอท. ฝันปี 67 พลิกทำกำไรแตะ 5.2 หมื่นล้าน คาดโต 1 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ลุ้นจีนผ่อนคลายเดินทาง-สถานการณ์โลกปกติ คาดปี 66 มีผู้โดยสารกว่า 94 ล้านคน เร่งเตรียมความพร้อมเปิด SAT-1 พร้อมลุยธุรกิจการบินดิจิทัล ดันรายได้ Non-aero ชิงเบอร์ 1 อุตฯ การบิน

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวปาฐกถาภายในงานสร้างความคุ้นเคยกับ ทอท. (AOT Familiarization) วันนี้ (22 ส.ค. 2565) ว่า ทอท. ได้เตรียมความพร้อมด้านธุรกิจ เพื่อรองรับช่วงเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจอุตสาหกรรมการบินหลังยุคโควิด-19

แฟ้มภาพ

โดยคาดหวังว่า ทอท. จะกลับมาทำกำไรสูงสุดตลอดกาลอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าในปี 2567 ทอท.จะมีกำไรสูงกว่า 1 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 หรือปี 2562 ที่เคยทำกำไรสูงสุด 26,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขดังกล่าว (ผู้สื่อข่าวประเมินว่า) กำไรของ ทอท.อาจมีมูลค่าถึง 52,000 ล้านบาท เมื่อวัดจากปริมาณเติบโตของกำไร 1 เท่าตัวจากปี 2562

ธุรกิจของ ทอท. ในปี 2566 จะฟื้นตัวอย่างมาก จนมีลุ้นกลับมาทำกำไรอีกครั้ง ส่วนปี 2567 เชื่อว่า ทอท.จะกลับมาทำกำไรสูงสุดตลอดกาลอีกครั้ง อาจสูงกว่าสถิติทำกำไรตลอดกาลครั้งล่าสุด 1 เท่า หากประเทศจีนผ่อนคลายการเดินทาง และสถานการณ์ต่างๆ ของโลกกลับเข้าสู่สภาวะปกติ” นายนิตินัย กล่าว

นายนิตินัย กล่าวต่อว่า สำหรับในปี 2566 คาดว่า 6 ท่าอากาศยานของ ทอท.จะมีตัวเลขผู้โดยสารฟื้นตัวกลับมาประมาณ 66% หรือ 2 ใน 3 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 กล่าวคือ ผู้โดยสารจะกลับมา ประมาณ 93-94 ล้านคน จากเดิมปี 2562 ผู้โดยสารอยู่ที่ 140 ล้านคน

ดังนั้น ทอท.จึงเตรียมเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT1) พร้อมระบบอำนวยความสะดวกผู้โดยสารที่ผสมผสานความเป็น Digital Airport มากขึ้นตอบสนองพฤติกรรมเดินทางยุคใหม่

ทั้งนี้ ในปี 2566 จะเป็นยุคเปลี่ยนผ่านของธุรกิจการบิน ทอท. เพื่อวางรากฐานความมั่งคั่งไปอีกนับทศวรรษ โดยแม้ว่า ทอท.จะแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมการบิน แต่จำเป็นต้องพัฒนา เพื่อแข่งขันในตลาดที่มีผู้เล่นรายใหม่ และมีผู้ประกอบการรายเก่าที่เข้มแข็งขึ้นในช่วงหลังยุคโควิด-19 โดยเฉพาะเมกะเทรนด์ของโลก เรื่องเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกผู้โดยสารด้านการขนส่งทางอากาศ อาทิ แอปพลิเคชั่นสนามบิน จุดบริการอัตโนมัติ ไปจนถึงหุ่นยนต์สนามบิน

ดังนั้น พนักงานของ ทอท. จึงต้องปรับตัวในการทำงานให้เข้าสู่รูปแบบดิจิทัลมากขึ้น เพื่อแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินยุคใหม่ ควบคู่ไปกับหัวใจบริการพร้อมดูแลผู้โดยสารและประชาชนในฐานะรัฐวิสาหกิจของประเทศไทย

นายนิตินัย กล่าวถึงแนวทางการปรับตัวของ ทอท. ว่า เนื่องด้วยภูมิทัศน์ของธุรกิจที่เปลี่ยนไป และมีผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้น ทอท.จึงต้องขยายฐานธุรกิจเพื่อรองรับดีมานต์การเดินทาง อาทิ บริษัท AOTTO ดำเนินกิจการศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก, บริษัท AOTGA หรือบริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด ให้บริการด้านกราวด์เซอร์วิส และบริษัท รักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานไทย จำกัด (AVSEC : Aviation Security

ผมเปรียบวิกฤตฝั่งซัพพลายนี้ เป็นเหมือนรูพรุนๆ ของปะการัง ที่เรายังมองเห็นว่ามีตัวตนอยู่ แต่เราไม่รู้ว่าตรงไหนจะแตกหักเมื่อไหร่ สิ่งที่น่ากังวลของธุรกิจการบินตอนนี้ คือ ปริมาณซัพพลายอาจไม่เพียงพอตอบสนองปริมาณของผู้โดยสารที่ฟื้นตัว จนอาจกระทบต่อคฺณภาพบริการท่าอากาศยาน ดังนั้น ทอท.จึงแตกขยายธุรกิจ Non-Aero เพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานอยู่รอด ทั้งยังจะเป็นหนึ่งในแกนรายได้หลักในอนาคตอีกด้วย เพื่อสนับสนุนการบินต่อไป”

นายนิตินัย กล่าว