‘บีทีเอส’ แจงเหตุผู้โดยสารล้ม @สถานีสุรศักดิ์ ยันบันไดเลื่อนไม่ขัดข้อง ด้าน ‘กรมรางฯ’ ลุยวางแนวทางป้องกันเหตุซ้ำรอย เตรียมเรียกผู้ประกอบการระบบรางทุกรายหารือ 22 ส.ค.นี้

“บีทีเอส” แจงกรณีผู้โดยสารล้ม “สถานีสุรศักดิ์” เหตุให้มีผู้โดยสารขึ้นบันไดเลื่อนเสียหลักล้มทับกัน ยันบันไดเลื่อนไม่ขัดข้อง พร้อมดูแลผู้บาดเจ็บเต็มที่ ด้าน “กรมรางฯ” จ่อเรียกผู้ประกอบการทุกราย 22 ส.ค.นี้ ร่วมหารือ-บูรณาการวางแนวทางป้องกันเหตุซ้ำรอย เผยเตรียมออกกฎกระทรวงฯ กำหนดมาตรฐาน 19 ตัวชี้วัด กำกับผู้ประกอบการระบบราง พร้อมกำหนดบทลงโทษปรับเงิน–อาญา คาดมีผลบังคับใช้ หลังประกาศใช้ พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฉบับใหม่ ช่วงต้นปี 66

รายงานข่าวจากฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ชี้แจงกรณี ผู้โดยสารล้มจากบันไดเลื่อน บริเวณสถานีสุรศักดิ์ เมื่อเวลา 18.38 น. ของวันนี้ (20 ส.ค. 2565) ว่า จากการตรวจสอบ พบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว มีฝนตกหนักทำให้ผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการในสถานีสุรศักดิ์เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้โดยสารเสียหลักสะดุดล้มบริเวณ หัวบันไดเลื่อน ทำให้ผู้โดยสารที่กำลังขึ้นบันไดเลื่อนมาออกันเสียหลักล้มทับกัน โดยผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่มีแผลถลอกตามร่างกาย และบาดเจ็บเล็กน้อย

ทั้งนี้ ภายหลังเกิดเหตุดังกล่าว บริษัทฯ ได้ปิดให้บริการบันไดเลื่อนของสถานีสุรศักดิ์ชั่วคราวแล้ว โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า บันไดเลื่อนไม่ได้เกิดเหตุขัดข้อง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้เข้าดูแลผู้บาดเจ็บ พร้อมทั้งนำส่งโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทฯ ยืนยันว่า มิได้นิ่งนอนใจ และยินดีที่จะดูแลผู้บาดเจ็บอย่างดีที่สุด

ด้านแหล่งข่าวจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า ขร. ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุตั้งแต่เมื่อช่วงเวลา 20.45 น. ซึ่งในขณะนี้ อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการ และแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบดังกล่าวขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ เตรียมเรียกผู้ประกอบการด้านระบบรางทุกราย เข้าหารือเพื่อกำหนดแนวทางป้องกันเหตุ ส่วนสาเหตุของเหตุการณ์นั้น ฝ่ายเทคนิคจะต้องไปดำเนินการตรวจสอบบันไดเลื่อน ก่อนที่จะได้ข้อสรุปต่อไป

ส่วน ขร. จะมีบทลงโทษกับผู้ประกอบการระบบรางต่อกรณีการให้บริการที่มีผลกระทบโดยตรงกับประชาชนได้หรือไม่นั้น แหล่งข่าวจาก ขร. กล่าวว่า ขณะนี้ ขร. อยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำระบบประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานการขนส่งทางรางในแต่ละสายทางของประเทศ รวมถึงตัวชี้วัดในการกำกับประสิทธิภาพระบบขนส่งทางราง ซึ่งมีทั้งด้านประสิทธิภาพด้านดำเนินงาน และประสิทธิภาพด้านการบริการ

ทั้งนี้ ในอนาคต ขร.จะมีการประกาศกฎกระทรวงฯ ภายใต้ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ที่จะกำกับดูแลมาตรฐานการขนส่งทางราง พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษ หากผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการตามข้อบังคับที่กำหนดให้เจ้าของหน่วยงานของแต่ละโครงการส่งข้อมูลตัวชี้วัดการให้บริการที่ส่งผลกระทบกับประชาชนได้ ซึ่งจะมีบทลงโทษเชิงปกครอง หรือปรับเงิน และบทลงโทษทางอาญาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ข้อบังคับในกฎกระทรวงดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้เมื่อใดนั้น แหล่งข่าวจาก ขร. กล่าวว่า จะต้องรอร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ โดยคาดว่า จะสามารถประกาศใช้ในช่วงต้นปี 2566 จากนั้นขั้นตอนต่อไปจะเริ่มดำเนินการออกประกาศกฎกระทรวง ซึ่งมีระยะเวลาในการออกประกาศ 90 วัน ทั้งนี้ การจัดทำระบบประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานการขนส่งทางรางในแต่ละสายทางของประเทศ เป็นหนึ่งในประกาศกฎกระทรวงฯ ของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 20.33 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ไลฟ์สดผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” โดยผู้ว่าฯ ได้นั่งรถไฟฟ้ามาลงพื้นที่ เพื่อดูปัญหาที่จุดเกิดเหตุด้วยเช่นเดียวกัน