ฤกษ์ดี! ‘ขนส่งฯ’ ครบรอบ 81 ปี ‘ศักดิ์สยาม’ เปิดศูนย์ GPS กำกับดูแลรถสาธารณะ 5 แสนคันทั่วประเทศ เพิ่มความปลอดภัยทางถนน

ศักดิ์สยามเปิดศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการขนส่งทางถนน” (GPS) กำกับดูแลรถสาธารณะทุกประเภทกว่า5 แสนคันทั่วประเทศ ยกระดับความปลอดภัย สั่ง ขบ. บูรณาการ .อุตฯ กำหนดมาตรฐานรถใหม่ติด GPS พร้อมพัฒนา RFID แก้ปัญหารถติดป้องกันอาชญากรรม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในโอกาสครบรอบ 81 ปี และเปิดอาคารศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการขนส่งทางถนนวันนี้ (11 .. 2565) ว่า ขบ. เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่มีประวัติศาสตร์การทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนมาอย่างยาวนานถึง 81 ปี มีบทบาทสำคัญในการจัดระบบจัดระเบียบการขนส่งทางถนน เพื่อให้ระบบการขนส่งทางถนนมีประสิทธิภาพ เชื่อมโยง ทั่วถึง และเพียงพอ เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพมายกระดับการให้บริการตอบสนองความต้องการของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการเปิดศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างเป็นทางการในวันนี้นั้น ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 300 กว่าล้านบาท เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 และแล้วเสร็จในปี 2565 ซึ่งจะเป็นก้าวสําคัญในการผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาระบบการขนส่งทางถนนอย่างเป็นรูปธรรม โดยการใช้เทคโนโลยี GPS ในการกํากับดูแลด้านความเร็วและชั่วโมงการทํางานของผู้ขับรถ สาธารณะให้ปลอดภัย

สำหรับภารกิจของศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการขนส่งทางถนน คือ การควบคุมกำกับดูแลการเดินรถ ความเร็วชั่วโมงการทำงาน และบริหารข้อมูลการเดินรถให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งด้านการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์

โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูล GPS ซึ่งเป็นนวัตกรรมดิจิทัลที่สำคัญด้านหนึ่ง เพื่อกำกับ ควบคุม ดูแล การขนส่งรถสาธารณะทุกประเภท ทั้งรถรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป รถบรรทุกวัตถุอันตราย และรถลากจูง  รถโดยสารสาธารณะ เช่นรถตู้ รถโดยสารประจำทาง รถโดยสารไม่ประจำทาง (ยกเว้นรถสองแถว) จำนวนกว่า 5 แสนคัน

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า การกำกับดูแลดังกล่าว จะดำเนินการภายใต้การทำงานของศูนย์นวัตกรรมฯ แบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชม. เช่น ภารกิจการตรวจสอบและควบคุมการใช้ความเร็วของรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก ซึ่งจะสามารถส่งข้อมูลแจ้งตำแหน่งของรถ เพื่อประสานสั่งการสำนักงานขนส่ง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานขนส่งจังหวัด 76 แห่งทั่วประเทศ

ทั้งนี้ เข้าดำเนินการควบคุมกำกับพฤติกรรมการขับรถที่อาจเป็นอันตรายอย่างทันท่วงที ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางถนน เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ พัฒนาคุณภาพผู้ประกอบการขนส่งและพนักงานขับรถสาธารณะให้มีความรับผิดชอบและเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ได้มอบนโยบายให้ ขบ. ไปศึกษาเรื่องการนำระบบ GPS มาใช้ในการป้องกันอุบัติเหตุ เพื่อควบคุมการขับขี่ได้อย่างปลอดดภัยเหมือนกับประเทศที่มีการพัฒนาแล้ว รวมทั้งไปบูรณาการร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดเรื่องมาตรฐานรถใหม่ที่จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ GPS มาในตัวรถให้เรียบร้อย อย่างประเทศสิงคโปร์ ที่เมื่อจำหน่ายรถจะมีการติดตั้งระบบ GPS มาพร้อม โดยไม่ต้องซื้อติดตั้งทีหลัง

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ต้องพัฒนานำเทคโนโลยีการระบุตัวตนด้วยคลื่นความถี่ (RFID) มาใช้ด้วยโดยต้องศึกษาความเหมาะสมตำแหน่งที่จะติดตั้งให้มีประสิทธิภาพในการตรวจคลื่นความถี่ เพื่อสามารถดูทะเบียนรถสีรถ เช็กความถูกต้อง และตรวจสอบประวัติอาชญากรรมได้ รวมทั้งมาตรวจสอบรถที่วิ่งผ่านระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) ของกรมทางหลวง (ทล.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

อีกทั้งยังช่วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในเรื่องของการควบคุมความเร็วที่ใช้บนนถนนเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด ป้องกันการเกิดข้อโต้แย้งกับผู้ใช้ทาง รวมทั้งป้องกันปัญหาอาชญากรรม และสร้างความสงบเรียบร้อยในอนาคต

ขณะเดียวกัน ขบ. เตรียมเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านที่วิ่งระหว่างประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องระบบ GPS เพื่อเกิดการดำเนินงานกำกับดูแล ควบคุม ไม่ให้มีการใช้รถผิดไปจากที่กฎหมายกำหนดด้วย และขอให้ตรวจสอบเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยมอบหมายให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทล. กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และตำรวจทางหลวง (ตร.ทล.)