‘EXIM BANK’ ปรับ 6 ยุทธศาสตร์ 10 ปี!! ติดปีกผู้ประการไทยบุก ‘New Frontiers’

EXIM BANK เดินหน้าขับเคลื่อน 6 ยุทธศาสตร์สู่เป้าหมาย ลั่นครบครอบ 25 ปี สร้างองค์ความรู้และเสริมเขี้ยวเล็บผู้ประกอบการไทยเพียบ!!โดยเฉพาะ SME เตรียมพร้อมการแข่งขันในทุกตลาด รวมทั้งการบุกตลาดใหม่

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ในปี 2562 EXIM BANK ครบรอบ 25 ปี และก้าวสู่ปีที่ 3 ของการปรับบทบาทใหม่ตามแผนแม่บท 10 ปี (ปี 2560-2570) EXIM BANK จึงได้ทบทวนและปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและทิศทางเศรษฐกิจของไทย โดยกำหนด 6 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1. เชื่อมไทย เชื่อมโลก ด้วยการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ 2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ 3. ป้องกันความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุนไทยในต่างประเทศ 4. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ 5. เพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ 6. พัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ

จากยุทธศาสตร์ดังกล่าว EXIM BANK จะทำหน้าที่เติมเต็มช่องว่างเครือข่ายธุรกิจ เป็นตัวกลางสร้างเครือข่ายทางธุรกิจใหม่ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่สนใจรุกตลาดใหม่ (New Frontiers) โดยทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศเพื่อเชื่อมผู้ประกอบการไทย รวมทั้งสินค้าและบริการของไทย เข้ากับภาคการผลิตและผู้บริโภคในประเทศตลาดใหม่ รวมทั้งอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบที่เหมาะสมในการเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการในตลาดใหม่ เช่น อินเดีย แอฟริกา และเวียดนาม หลังจากการเปิดสำนักงานผู้แทน EXIM BANK แห่งแรกและแห่งที่ 2 ในย่างกุ้งและเวียงจันทน์ และแห่งที่ 3 ในกรุงพนมเปญ เดือนมีนาคมนี้

ขณะเดียวกัน EXIM BANK จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเติมเต็มช่องว่างทางการเงิน สนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้รุกตลาดใหม่ได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยมีความพร้อมทั้งด้านเงินทุนและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่จะขยายธุรกิจได้อย่างมั่นใจ รวมทั้งสามารถยกระดับการผลิตไปสู่ระบบที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับสูงได้ เพื่อสร้างมูลค่าของสินค้าไทยให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเติมเต็มช่องว่างองค์ความรู้ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีข้อมูลเชิงลึกและรอบด้าน นำไปปรับใช้ในการเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจการค้าและการลงทุนได้อย่างประสบความสำเร็จทั้งในและต่างประเทศ

ในการเติมเต็มช่องว่างเครือข่ายธุรกิจ การเงิน และองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดย่อม (Small Enterprises) ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 99% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งประเทศ และสัดส่วน GDP ของผู้ประกอบการขนาดย่อมต่อ GDP ประเทศยังเติบโตอย่างต่อเนื่องจนแตะระดับ 30% ในปี 2560 หากผู้ประกอบการกลุ่มนี้สามารถยกระดับเป็นผู้ส่งออกได้มากขึ้น จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้อีกมาก  EXIM BANK จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXIM Excellence Academy : EXAC)” ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานจัดกิจกรรมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเริ่มต้นส่งออกได้หรือขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้น

โดยแบ่งตามระดับศักยภาพของผู้ประกอบการ ดังนี้ 1. กลุ่มผู้ที่ยังไม่เคยส่งออก (Neo-exporters) 2. กลุ่มผู้ที่เคยส่งออกบ้างแล้ว (Mid-pros) และ 3. กลุ่มผู้ที่ส่งออกอยู่แล้ว (High-flyers) ซึ่งยังต้องการการสนับสนุนทางการเงินและข้อมูลเพื่อขยายธุรกิจส่งออกให้เติบโตได้อย่างมั่นคง โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าจะจัดกิจกรรมตั้งแต่ระดับการบ่มเพาะความรู้ที่จำเป็นต่อการเริ่มต้นและขยายธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ พาไปสำรวจตลาดและโอกาสการส่งออก จับคู่ธุรกิจกับผู้ส่งออกที่เป็นเทรดเดอร์หรือผู้ซื้อในต่างประเทศ จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชนมาให้คำปรึกษาแนะนำในทุกมิติ พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินสนับสนุนการเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจ ส่งเสริมการขยายพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ไปจนถึงการสร้างสังคมผู้ส่งออก โดยให้ผู้ส่งออกที่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งผู้ที่ผ่านการอบรมจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า กลับมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเป็นพี่เลี้ยงผู้ส่งออกรุ่นใหม่ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีชุมชน
ผู้ส่งออกที่เข้มแข็งและแข่งขันได้ในทุกตลาดทั่วโลก

นายพิศิษฐ์ กล่าวอีกว่าในโอกาสครบรอบ 25 ปี EXIM BANK พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ “สินเชื่อส่งออกเพิ่มสุข (EXIM Happier Credit)” เป็นสินเชื่อหมุนเวียนช่วงก่อนและหลังการส่งออก ผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นส่งออก (Start up) และไม่เคยได้รับสินเชื่อจาก EXIM BANK จะได้รับพิจารณาวงเงินสินเชื่อสูงสุด 700,000 บาทต่อราย ส่วนลูกค้าปัจจุบันของ EXIM BANK จะได้รับวงเงินสินเชื่อสูงสุด 1 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย/อัตรารับซื้อลด ปีแรกอยู่ที่ 5.50% ต่อปี ปีที่ 2 อยู่ที่ Prime Rate -0.50% ต่อปี (หรือ 5.75% ต่อปี)

 พร้อมวงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) สูงสุดเท่ากับวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ใช้เพียงบุคคลค้ำประกัน สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมอบรมของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าและค้าขายออนไลน์ หรือลงทะเบียนร่วมกิจกรรมกับ EXIM BANK จะได้รับส่วนลดอัตราดอกเบี้ยปีแรก 0.50% ต่อปี บริการใหม่นี้มีเป้าหมายอนุมัติวงเงินรวม 400 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดย่อมไม่น้อยกว่า 550 รายเริ่มต้นส่งออกได้หรือส่งออกได้มากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจและความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน