ภารกิจที่ท้าทาย“ ดร.ธนพร ฐิติสวัสดิ์” GIS ไม่ใช่แค่แผนที่แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ

GIS (Geographic Information System) ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่ยังมีบทบาทหลายด้านที่คนไทยไม่เคยรู้มาก่อน GIS คือระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ที่ทำงานโดยการป้อนข้อมูลทางภูมิศาสตร์ เช่น ภาพแผนที่ ภาพถ่ายผ่านดาวเทียม ตัวเลข ตัวอักษร ระยะทาง เข้าไปวิเคราะห์ผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มักมีความถูกต้องแม่นยำสูงมีประโยชน์ค่อนข้างมากในการวางแผนและประกอบการตัดสินใจ

ในฐานะที่เป็นผู้นำอันดับ 1 ด้าน GIS และเทคโนโลยีการทำแผนที่ “ดร.ธนพร ฐิติสวัสดิ์” ประธานบริษัท จีไอเอส จำกัด ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยี GIS ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน เป้าหมายและความคาดหวังให้คนไทยเข้าใจ GIS มากขึ้น รวมถึงความท้าทายของธุรกิจในปีนี้

บทบาทและประโยชน์ของ GIS

ดร.ธนพร กล่าวว่า เทคโนโลยี GIS มีบทบาทสำคัญและสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นใช้ช่วยเหลือพยากรณ์น้ำท่วม การช่วยเหลือผู้ประสบภัย การวางผังเมือง การจัดการระบบสาธารณูปโภค การวิเคราะห์การตลาดเพื่อหาที่ตั้งที่เหมาะสมกับการขยายสาขาสำหรับธุรกิจค้าปลีก และการวางแผนการขนส่งในธุรกิจโลจิสติกส์เป็นต้น ซึ่ง GIS มีความสำคัญที่จะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศได้ จะเป็นกลไกที่ช่วยให้ภาครัฐใช้ในการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของ บริษัทจีไอเอส มีข้อมูลแผนที่ที่แม่นยำ โดยใช้ของ “NOSTRA Map” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกลุ่มบริษัทซีดีจีร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีพาทเนอร์ในหลากหลายด้านที่สามารถซัพพอร์ทลูกค้าได้ ซึ่งเป็นการให้บริการด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์แบบครบวงจร

“NOSTRA Map เป็นแผนที่ที่ดีที่สุดในไทยในขณะนี้ แผนที่นี้มีรายละเอียดสูงมาตราส่วน 1: 4,000 และ 1:20,000 มี POI และเส้นทางถนนทั่วประเทศ แผนที่เมืองไทยที่ทำโดยคนไทยจะเข้าใจความพิเศษของบ้านเรา ลักษณะถนน ตรงไหนเลี้ยวได้ เลี้ยวไม่ได้ มีความละเอียดและเเม่นยำกว่า ซึ่งแผนที่นี้จะมีการอัพเดทข้อมูลทุกวัน ”ดร.ธนพร กล่าว

ดร.ธนพร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้ใช้เทคโนโลยี GIS เบื้องหลังหลายเหตุการณ์ และทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน เช่น การพยากรณ์น้ำท่วมที่ จ.เชียงใหม่ การช่วยเหลือทีมหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง จ.เชียงราย ซึ่งได้ช่วยกรมทรัพยากรธรณีในการนำปริมาณน้ำฝน และสภาพภูมิประเทศ มาวิเคราะห์เพื่อทำนายบริเวณจุดที่น้ำเข้าถ้ำเพื่อให้ทีมกู้ภัยผันน้ำออกให้ถูกจุด ซึ่งมีความผิดพลาดทางตำแหน่งไม่เกิน 60 เมตร ที่สำคัญบริเวณในถ้้ำไม่เคยมีแผนที่ มีแต่หนังสือภาษาฝรั่งเศสที่ระบุเกี่ยวกับลักษณะถ้ำ ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแผนที่ภายในถ้ำขึ้นมา และเห็นจุดที่แคบที่สุดสูงแค่ 38 เซนติเมตร ซึ่งการเห็นภาพที่แม่นยำจะมีประโยชน์สำหรับคนที่เข้าไปช่วยว่าต้องทำอย่างไร ถึงจะปลอดภัยที่สุด นอกจากนี้ยังใช้ GIS ค้นหาตำแหน่งผู้สูญหายเมื่อเกิดสึนามิและเหตุการณ์ตึกถล่มล่าสุด

โฟกัสตลาดภาครัฐ-ธุรกิจโลจิสติกส์

เมื่อถามถึงกลุุ่มลูกค้าของ จีไอเอส ดร.ธนพร ย้ำว่ายังคงโฟกัสที่ตลาดภาครัฐ โดยเฉพาะ Smart City และภาคเอกชนในกลุ่มโลจิสติกส์ ที่มองว่า ธุรกิจนี้ยังไปได้อีกไกลทุกคนพยายามลดต้นทุนโดยไม่มีหน้าร้าน พฤติกรรมคนเปลี่ยนนิยมซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้โลจิสติกส์โตแน่นอน และจะมีการนำเทคโนโลยี GIS มาใช้ในการบริหารจัดการเรื่องการขนส่ง การบริหารจัดการฟลีทให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนได้มากที่สุด ซึ่งย้ำว่าจุดเด่นคือ แพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ธุรกิจของลูกค้าได้ตรงจุด

“ธุรกิจโลจิสติกส์ถือว่ามีความโดดเด่น มีการนำเทคโนโลยี GIS ไปใช้บน NOSTRA LOGISTICS Platform เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนการขนส่ง โดยสามารถลดต้นทุนค่าขนส่งรวมได้ถึง 15% และขณะนี้ได้ขยายสู่การบริหารจัดการงานขนส่งตู้คอนเทนเนอร์อีกด้วย” ดร.ธนพร กล่าวและเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังใช้ GIS ในธุรกิจค้าปลีก เกี่ยวกับการเปิดหรือปิดสาขา ซึ่งช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อการตัดสินใจทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเลือกทำเลที่ตั้งร้านค้า การวางแผนเส้นทางการขนส่ง และการทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า เป็นต้น

ในส่วนของ Smart City ถือว่าเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการนำเทคโนโลยี GIS ไปใช้ ยกตัวอย่างเช่น ที่ เทศบาลนครหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้นำ GIS มาใช้บูรณาการฐานข้อมูลเมืองด้านสาธารณสุข การดูแลกลุ่มเปราะบางและสถานพยาบาล ส่วน จ.นครศรีธรรมราช จะใช้ GIS จัดการเกี่ยวกับข้อมูลสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ เพื่อง่ายต่อการอำนวยความสะดวกในการฉีดวัคซีนและงานด้านสาธารณสุขต่าง ๆ

“การแข่งขันในตลาด GIS ถือว่าสูง เพราะเริ่มมีผู้เล่นเข้ามามากขึ้น คนก็หาช่องว่างให้ตัวเองเติบโต จุดสำคัญจึงไม่ใช่แค่การนำเสนอว่า GIS คืออะไร แต่ต้องทำให้ลูกค้าเข้าใจว่า GIS ไม่ใช่แค่แผนที่ทั่วไป แต่คือเครื่องมือวิเคราะห์ ทำนาย ประมวลผล และหาคำตอบได้ ถือเป็นความท้าทายที่เราต้องสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจถึงความแตกต่าง และทำให้ตลาดรับรู้ถึงประโยชน์และความสำคัญของ GIS ว่าเป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน ที่มีไว้ใช้งานทั่วไป ที่ทุกองค์กรต้องมีเช่นกัน”

บุคลากร ถือว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรที่ไม่แตกต่างกับธุรกิจอื่น ซึ่งเรื่องนี้ ดร.ธนพร สะท้อนว่า หลักสูตรการเรียนการสอนด้าน GIS ในไทยยังจำกัด ยังขาดคนที่มีความรู้เฉพาะทาง โดยหลักสูตรนี้มีทั้งสายวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ แต่สายวิทยาศาสตร์ค่อนข้างมีน้อย ในส่วนของ จีไอเอส ที่ผ่านมาได้ MOU ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหลายสถาบันในการพัฒนาด้านบุคลากร รวมทั้งการรับนักศึกษาเข้ามาฝึกงาน เพื่อสนับสนุนการสร้างบุคคลากรให้เพียงพอต่อความต้องการ ของตลาดและเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งหมดคือแนวคิดและภารกิจอันท้าทายของ ดร.ธนพร ฐิติสวัสดิ์ ที่จะทำให้คนไทยได้เห็นความสำคัญและการใช้ประโยชน์จาก GIS ที่หวังว่าวันหนึ่งเราจะมีความคุ้นเคยเช่นเดียวกับการใช้ Microsoft office