“พาณิชย์-DITP” แนะผู้ประกอบการศึกษารถไฟลาว-จีน ส่งออกสินค้า

 

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะผู้ส่งออกไทย ศึกษาการใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟลาว-จีน ในการขนส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดจีน รองรับการเปิดด่านรถไฟโม่ฮาน แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถนำเข้าผลไม้ได้ ต้องรอสร้างลานตรวจสินค้าให้เสร็จก่อน คาดภายในปีนี้ เผยเบื้องต้น มีผู้ส่งออกไทยทดลองใช้รถไฟลาว-จีนบางช่วงแต่ไม่ผ่านด่านรถไฟโม่ฮาน ส่งทุเรียนและมะพร้าว ประสบความสำเร็จด้วยดี พร้อมเดินหน้าสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ ช่วยผู้ประกอบการไทย

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่าง ๆ ล่าสุดได้รับรายงานจากนายณัฐ วิมลจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงโอกาสในการใช้ประโยชน์จากการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน ที่จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากทางบก ทางเรือ และทางอากาศ

โดยทูตพาณิชย์ได้รายงานว่า การขนส่งทางรางผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน เป็นอีกหนึ่งเส้นทางเลือกในการขนส่งสินค้าของไทยไปยังประเทศจีน และแม้ว่าด่านรถไฟโม่ฮานจะมีพิธีสารระหว่างกรมศุลกากรสาธารณรัฐประชาชนจีนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไทยว่าด้วยการตรวจสอบการกักกันโรคสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่ 3 ระหว่างสหราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถนำเข้าผลไม้ได้ เนื่องจากด่านดังกล่าว ยังต้องมีการดำเนินการก่อสร้างลานจำเพาะสำหรับตรวจสอบสินค้านำเข้าและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับ 8 ประเภท ได้แก่ 1.ผลไม้ 2.เนื้อสัตว์ 3.ธัญพืช 4.สินค้าอาหารทะเลสดแช่เย็น 5.สัตว์น้ำมีชีวิต 6.ต้นกล้า 7.ไม้ และ 8.สัตว์หรือสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้สามารถรองรับการนำเข้าสินค้าได้อย่างหลากหลาย

ทั้งนี้ ในช่วงระยะแรกจะมีการสร้างและใช้งานลานตรวจสอบสินค้านำเข้า 3 ประเภทก่อน ได้แก่ ผลไม้ ธัญพืชและสินค้าอาหารทะเลสดแช่เย็น โดยผ่านการอนุมัติจากศุลกากรจีน (GACC) แล้ว และคาดว่าลานดังกล่าวจะสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานได้ภายในปี 2565 ส่วนการก่อสร้างและขออนุมัติลานจำเพาะสินค้าอีก 5 ประเภท ได้แก่ เนื้อสัตว์ ต้นกล้า ไม้ สัตว์น้ำมีชีวิตและสิ่งมีชีวิตจะดำเนินการต่อไปในภายหลัง และหากลานสินค้าจำเพาะสามารถเปิดใช้งานได้แล้ว ด่านรถไฟโม่ฮานจะกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางการขนส่งสินค้าที่สำคัญของมณฑลยูนนาน และสามารถสร้างประโยชน์ด้วยการลดต้นทุนและเวลาในการขนส่งสินค้าได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร เช่น ผลไม้สด ผักสด และดอกไม้ ซึ่งเป็นสินค้าที่เน่าเสียง่ายและต้องการความรวดเร็วในการขนส่ง

นายภูสิตกล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันด่านรถไฟโม่ฮาน ยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกและลานตรวจสอบสินค้าผลไม้ ทำให้มีผู้ประกอบการไทยบางรายทดลองขนส่งผลไม้ผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีนในบางส่วนของเส้นทาง ยังไม่ผ่านด่านรถไฟโม่ฮาน โดยขนส่งในรูปแบบผสมผสานทางรถและทางราง เพื่อแก้ไขปัญหาในการเร่งระบายผลไม้จากไทยเข้าจีน ได้แก่ ทุเรียนและมะพร้าว โดยใช้ 2 รูปแบบ คือ กรณีที่ 1 รถไฟไทย–ท่านาแล้ง สปป.ลาว–รถไฟลาว-จีน (สถานีเวียงจันทน์ใต้-สถานีนาเตย สปป.ลาว)–รถบรรทุกลาว (นาเตย–บ่อเต็น สปป.ลาว)–เปลี่ยนเป็นรถบรรทุกของจีนณ LIDC ด่านบ่อเต็น–รถบรรทุกจีน (บ่อเต็น สปป.ลาว–โม่ฮาน จีน–ปลายทาง) และกรณีที่ 2 รถบรรทุก–ท่านาแล้ง สปป.ลาว–รถไฟลาว-จีน (สถานีเวียงจันทน์ใต้-สถานีนาเตย สปป.ลาว)-รถบรรทุก (นาเตย–บ่อเต็น สปป.ลาว)–เปลี่ยนเป็นรถบรรทุกของจีน ณ LIDC ด่านบ่อเต็น–รถบรรทุกจีน (บ่อเต็น สปป.ลาว–โม่ฮาน จีน–สถานีโม่ฮาน)–รถไฟลาว-จีน (สถานีโม่ฮาน–สถานีหวังเจียหยิง)–รถบรรทุก (สถานีหวังเจียหยิง–ปลายทาง)

“การขนส่งด้วยรถไฟในช่วง สปป.ลาว จะช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาถนนในลาวที่มีสภาพไม่ดี ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนรถลากที่เชื่อมด่าน ณ บริเวณเชียงของ (จ.เชียงราย ประเทศไทย)–ด่านห้วยทราย (สปป.ลาว) ประหยัดเวลาในการขนส่งในสปป.ลาว แต่ก็มีความท้าทาย คือ การขนส่งทางรถไฟต้องรอการเติมสินค้าให้เต็มทั้งขบวนแล้วจึงค่อยขนส่งไปที่จีนได้ หรือจะต้องเหมาทั้งขบวนรถไฟ และแม้ว่าจะเป็นการขนส่งด้วยรถไฟลาว-จีน แต่เมื่อมาถึงสถานีนาเตยก็ต้องเปลี่ยนเป็นการขนส่งด้วยรถบรรทุกจากนาเตยมาถึงด่านบ่อเต็น และจำเป็นต้องรอคิวเข้าด่านโม่ฮานร่วมกับรถบรรทุกที่ขนส่งทางถนนมาตลอดสายเช่นเดียวกัน” นายภูสิตกล่าว

นายภูสิตกล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมเส้นทางส่งออกผลไม้ไทย ระหว่างรอการสร้างลานผลไม้ด่านรถไฟโม่ฮาน กรมได้ร่วมกับ สคต. นครคุนหมิง เร่งสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ไทย-จีน โดยจัดกิจกรรม Online Business Matching ให้กับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยและจีน โดยวันที่ 22 ก.พ.2565 กิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจโลจิสติกส์ทางออนไลน์ระหว่างบริษัท Yunnan Tengjin Logistics Incorporated Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจด้านโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ของมณฑลยูนนาน กับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของไทยทั้งหมด 16 บริษัท สร้างมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 374 ล้านบาท วันที่ 8 เม.ย.2565 กิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจโลจิสติกส์ทางออนไลน์ระหว่างบริษัท New Land-Sea Corridor Operation จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐวิสาหกิจกับบริษัทโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ที่ให้บริการด้านโลจิสติกส์หลายรูปแบบทั้งการขนส่งทางบก ราง ทะเลและอากาศ ที่มีประสบการณ์และมีศักยภาพการขนส่งสูง
กับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของไทยทั้งหมด 16 บริษัท สร้างมูลค่าการค้ารวมมากกว่า 330 ล้านบาท

นอกจากนี้ สคต. นครคุนหมิง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และบริษัท New Land–Sea Corridor Operation จำกัด ได้ร่วมหารือเพื่อแก้ปัญหาการขนส่งผลไม้จากไทยไปจีน และเกิดรูปแบบการขนส่งผลไม้ไทยแบบผสมผสาน โดยใช้เส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือชินโจว-ขนส่งทางรางมายังมหานครฉงชิ่ง-กระจายสินค้าในพื้นที่ต่าง ๆ ของจีน ซึ่งส.อ.ท. จะรวบรวมผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกผลไม้ในรูปแบบดังกล่าว เพื่อเจรจากับบริษัท New Land–Sea Corridor Operation จำกัด โดยสคต. พร้อมจะอำนวยความสะดวกให้ต่อไป

สำหรับข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการไทย จะต้องรักษามาตรฐานสินค้าและปฏิบัติตามกฎระเบียบของจีนอย่างเคร่งครัด เนื่องจากขณะนี้ ทางการจีนให้ความสำคัญกับนโยบาย Zero Covid เป็นอย่างมากและถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถประนีประนอมได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการผลไม้ควรควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อ Covid-19
ในสินค้าและบนบรรจุภัณฑ์ระดับสูงสุด และจะต้องติดตามสถานการณ์ด่านและเส้นทางการขนส่งอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประสานผู้นำเข้าและบริษัทโลจิสติกส์ให้ชัดเจนก่อนการขนส่งทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากความไม่แน่นอนของด่านทางบกที่เปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งไปตามสถานการณ์การตรวจพบเชื้อโควิด-19 และการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ
ของทางการจีน โดยผู้ประกอบการผลไม้ควรมีความยืดหยุ่นและอาจพิจารณาใช้เส้นทางการขนส่งทางอื่นแทนเส้น
ทางบกด้วย เช่น ทางเรือและทางอากาศ เป็นต้น