รฟท. จัด ‘Change to the Future’ ฝ่าวิกฤติหนี้สู่อนาคตใหม่รถไฟไทย

รฟท.ระดมสมองพนักงาน จัดงาน “Change to the Future” ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอนาคตใหม่รถไฟไทย” เร่งพัฒนาบุคลากร หวังแก้ปัญหาหนี้สะสม พร้อมเปลี่ยนผ่านระบบการเดินรถจากดีเซลสู่ระบบไฟฟ้า

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. เปิดเผยภายในงาน “Change to the Future ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอนาคตใหม่รถไฟไทย” ว่า ตนต้องการให้พนักงานรถไฟทราบสถาน การณ์ปัจจุบันของการรถไฟฯ และเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กรทุกด้าน รวมถึงจะต้องมีการปรับเปลี่ยนการทำงานให้มีความคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มากขึ้น ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงและการทำงานภาครัฐคงต้องขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในองค์กรแน่นอน โดยจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบุคคลเข้ามาทำงานด้านระบบรางแทนคนรถไฟปัจจุบันจึงมองว่าจะไม่ดีต่อคนรถไฟแน่นอน ขณะที่การดำเนินการตามผลประกอบการจากการประมาณการณ์ปี 2562 พบว่า การรถไฟฯ มีหนี้และขาดทุนสะสมกว่า 140,000 ล้านบาท และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงการเพิ่มรายได้และค่าใช้จ่ายจะส่งผลให้ในปี 2566 การรถไฟฯจะมีหนี้และขาดทุนสะสมเกือบ 200,000 ล้านบาท ที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้และสวัสดิการของพนักงานรถไฟ

ทั้งนี้ การรถไฟฯ จึงจำเป็นต้องเร่งเพิ่มและพัฒนาบุคลากรให้ทันเทคโนโลยีระบบรางที่จะเข้ามา จะต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับการทำงานระบบรถไฟรูปแบบใหม่ที่จะถูกนำมาใช้ในประเทศ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการใช้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางจำนวนมาก เช่น โครงการรถไฟทางคู่ระยะแรกวงเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท, โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงวงเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท ที่กำลังเตรียมเปิดให้บริการต้นปี 2564 และโครงการรถไฟความเร็วสูงประมาณ 170,000 ล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่จำนวน 11 โครงการระยะทางกว่า 1,681 กิโล เมตร ที่จะแล้วเสร็จในปี 2566 รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งปี 2572 จะมีรถไฟความเร็วสูงเสร็จรวม 5 โครงการ รวมระยะทาง 1,274 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 232,411 ล้านบาท ได้แก่ เส้นทางอู่ตะเภา-ระยอง, เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก, เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย, เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน และเส้นทางพิษณุโลก-เชียงใหม่

สำหรับแผนการดำเนินงานของการรถไฟฯ นั้นที่ผ่านมารถไฟยอมรับว่าไม่สามารถแข่งขันกับตลาดสายการบินต้นทุนต่ำ (Low cost) ได้ แต่ในปัจุบันและในอนาคตข้างหน้า การรถไฟฯ จึงมุ่งเป้ามาทางการแข่งขันกับตลาดรถตู้ระหว่างจังหวัดมากกว่าในะระยะทาง 200-300 กิโลเมตร โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีผู้โดยสารสูง เช่น นครราชสีมา, พิษณุโลก, ชุมพร เป็นต้น รวมถึงในอนาคตรถไฟจะต้องมีการปรับเปลี่ยนการเดินรถไฟขับเคลื่อนดีเซลรางเป็นระบบรถไฟฟ้า จึงจะทำให้มีการเดินรถได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ฝ่ายการตลาดรถไฟฯ ในปีนี้ จะเร่งเจาะกลุ่มตลาดใหม่ คือ กลุ่มผู้สูงอายุ และเน้นการเจาะตลาดกลุ่มทัวร์ต่างๆ ที่ในขณะนี้ลดน้อยลง เนื่องจากมีกลุ่มตลาดรถทัวร์เป็นคู่แข่ง

นอกจากนี้ กำลังก้าวสู่อนาคตใหม่ขององค์กรสู่การเปลี่ยนผ่านไปยังกิจการใหม่ที่ยั่งยืนทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูงและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์แปลงงามอย่างมูลค่าหลายแสนล้านบาท สถานีแม่น้ำและสถานีกลางบางซื่อ อย่างไรก็ตามคาดการณ์รายได้ปีนี้ของรฟท.จะอยู่ที่ 9.76 พันล้านบาท และมีรายจ่าย 1.71 หมื่นล้านบาท เมื่อมารวมกับรายจ่ายเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้แล้วจะมียอดขาดทุนในปีนี้รวม 2.18 หมื่นล้านบาท ในวันนี้รัฐบาลได้วางโครงสร้างพื้นฐานระบบรางไว้แล้วเมื่อก่อสร้างเสร็จพร้อมเปิดใช้แล้วมั่นใจว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาขาดทุนได้ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถหยุดขาดทุนและตัวเลขหลังหักค่าใช้จ่าย (Ebitda) กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง หรือมีกำไรจากผลประกอบการในปี 2565-2566

นายวรวุฒิ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้น ในเดือนนี้จะเสนอขอความเห็นชอบโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อนั้นจะเริ่มจากแปลงเอ พื้นที่ 32 ไร่วงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท คาดว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. จะพิจารณาได้ภายในเดือนนี้ ก่อนเปิดประมูลต่อไป นอกจากนี้ในปี 2562 จะทยอยเสนอโครงการและเปิดประมูลพื้นที่แปลงบี 78 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของสถานีกลางบางซื่อ และแปลงซี 105ไร่ ตั้งอยู่บริเวณขนส่งหมอชิต ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงต่อไป