[บทวิเคราะห์] การสร้างนวัตกรรมด้วยตนเองของจีนเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาร่วมกันของโลก

เมื่อเร็วๆ นี้ สื่อสหรัฐฯ บางสำนักอ้างคำพูดของนักธุรกิจและนักการเมืองบางคนมารายงานว่า การที่จีนเพิ่มขีดความสามารถด้านการสร้างนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยตนเองนั้น จะทำให้การสร้างนวัตกรรมในขอบเขตทั่วโลกชะลอตัวลงและเป็นอุปสรรคต่อการค้าโลก อีกทั้งยังจะทำให้ทั่วโลกยากจนลงด้วย

ตรรกะการรายงานข่าวของสื่อสหรัฐฯ ดังกล่าวเหลวไหลไร้สาระจริง ๆ แม้สื่อสหรัฐฯ ยอมรับว่า โลกกำลังประสบกับปัญหาการขาดแคลนชิป อย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 แต่ก็ยังคงประโคมข่าวสนับสนุนแผนชั่วร้ายของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการขัดขวางจีนและประเทศอื่นผลิตชิปและสร้างนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีอย่างเป็นอิสระ การกระทำของสหรัฐฯ ดังกล่าวได้สร้างความวุ่นวายมากขึ้นแก่ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่มีความสลับซับซ้อนมากอยู่แล้ว

รายงานข่าวของสื่อสหรัฐฯ ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแรงจูงใจที่ซ่อนเร้นของบรรดาผู้ที่ยึดติดกับปทัฏฐานที่ต้องให้ตะวันตกเป็นศูนย์กลางโลก ซึ่งเป็นความคิดที่ล้าสมัยไปแล้ว และยังสะท้อนให้เห็นถึงความคิดเย่อหยิ่งของสื่อสหรัฐฯ บางสำนักที่ต้องให้อเมริกามาก่อน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยคนเหล่านี้จัดระเบียบความสับสนในใจ

แม้สหรัฐฯ คุยโวโอ้อวดมาตลอดว่า เป็นผู้รักษากฎเกณฑ์เศรษฐกิจตลาดเสรีและบรรทัดฐานการค้าระหว่างประเทศ แต่ช่วงหลายปีมานี้สหรัฐฯ พยายามหาทางกดดันบริษัทต่างชาติที่มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูง เพื่อรักษาอำนาจทางเทคโนโลยีของตน สหรัฐฯ ได้ใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบภายใต้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของชาติ ควบคุมการส่งออกไปยังองค์กรและบริษัทจีนหลายร้อยแห่ง ทั้ง ๆ ที่องค์กรและบริษัทจีนเหล่านี้จะมีส่วนสนับสนุนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

จีนเร่งขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรมที่เป็นอิสระนั้นเป็นแนวทางที่ต้องเป็นไปท่ามกลางการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจที่รวดเร็ว สอดคล้องกับกฎแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ แนวทางดังกล่าวนี้จะต้องเป็นไปและไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดจากความเห็นต่างของใคร การกลั่นแกล้งทางเศรษฐกิจและการปิดล้อมทางเทคโนโลยีที่กระทำโดยสหรัฐฯ ไม่เพียงแต่ไม่สามารถหยุดการพัฒนาของวิสาหกิจจีนได้ แต่กลับทำให้บริษัทจีนยกระดับความคิดริเริ่มด้านการวิจัยอย่างจริงจังและมุ่งมั่นพัฒนาความก้าวหน้าในสาขาวิชาชีพด้านต่าง ๆ มากขึ้น

นายกวอ เซิงเสียง (Guo Shengxiang) นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรเลีย กล่าวว่า กฎทั่วไปในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับประเทศขนาดใหญ่ คือ ต้องเริ่มต้นจากไล่ตามผู้อื่น แล้วพัฒนาถึงขั้นที่มีความเท่าเทียมกับคู่แข่ง สุดท้ายจึงสามารถกลายเป็นผู้นำในการแข่งขันได้ สมมุติว่าไม่มีการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ จีนก็จะต้องมุ่งมั่นสร้างนวัตกรรมด้วยตนเองอยู่ดี เพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม นั่นคือสิ่งที่จีนต้องการเพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากนี้การสร้างนวัตกรรมด้วยตนเองของจีนไม่ได้หมายถึงการดำเนินการแบบปิดประตู ในฐานะส่วนหนึ่งของนวัตกรรมระดับโลก จีนได้ช่วยทำลายการผูกขาดของประเทศมหาอำนาจบางประเทศ ทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกมีเสถียรภาพ หลายปีมานี้จีนมุ่งมั่นส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งแบ่งปันผลจากการพัฒนาให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จนถึงปัจจุบันจีนได้สร้างความสัมพันธ์ที่ร่วมมือกันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับกว่า 160 ประเทศและภูมิภาค และได้เข้าร่วมองค์กรระหว่างประเทศและกลไกพหุภาคีกว่า 200 องค์กร

การที่จีนให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมที่เป็นอิสระและความร่วมมือระดับนานาชาติมากขึ้นนั้นได้รับการยอมรับอย่างสูงจากบริษัทต่างประเทศจำนวนมาก ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์จีน ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2021 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในจีนแผ่นดินใหญ่สูงถึง 1 ล้านล้านหยวน (156.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) แซงหน้าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งปีในปี 2020 โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมไฮเทคได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น 19.3% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2020

การสร้างนวัตกรรมของจีนยังได้แสดงบทบาทเชิงบวกอย่างล้นหลามทั่วโลก ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของระบบดาวเทียมนำร่องเป่ยโต่ว (BDS-3) ของจีนได้ส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ยุโรปตะวันออก และแอฟริกา รวมกว่า 120 ประเทศและภูมิภาค เพื่อนำไปใช้งานในด้านต่าง ๆ เช่น การรังวัดที่ดิน การทำฟาร์มแบบแม่นยำ การก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และท่าเรืออัจฉริยะ ทั้งนี้มีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่นของบรรดาประเทศเหล่านี้ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางด้วย

การพัฒนาเครือข่ายใยแก้วนำแสงเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับความช่วยเหลือจากจีนในประเทศแอฟริกาตะวันออก โครงการนี้ทำให้ประเทศเคนยาสามารถเข้าถึงบรอดแบนด์ ซึ่งได้ช่วยส่งเสริมอีคอมเมิร์ซ ตลอดจนอุตสาหกรรมสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศเคนยา

ด้วยความสามารถที่พัฒนาขึ้นในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ จีนได้มอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 2 พันล้านโดสแก่ 120 กว่าประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ เป็นประเทศที่ให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ต่างประเทศมากที่สุดในโลก

จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะเห็นได้ชัดว่า การสร้างนวัตกรรมด้วยตนเองของจีนเป็นการส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันของโลก ซึ่งจะทำให้บริษัทและผู้ประกอบการทั่วโลกสามารถได้รับประโยชน์มากขึ้นจากการแลกเปลี่ยนข้ามพรมแดนและความร่วมมือระหว่างประเทศแบบได้ชัยชนะร่วมกัน

เขียนโดย: ไช่ เจี้ยนซิน ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG)