สวัสดีปีขาล’65! NEX กางแผนธุรกิจ ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ จ่อเปิดวิ่งเพิ่ม 10 เส้นทาง ประเดิม ‘กรุงเทพฯ-ชลบุรี’ มี.ค.65
“NEX” เปิดแผนปี 65 ทุ่มงบ 200 ล้านบาท จุดพลุผลิตรถโดยสารไฟฟ้า 470 คัน เปิดบริการรถโดยสารประจำทางเพิ่ม 10 เส้นทาง ประเดิมเชื่อมเส้นทาง EEC นำร่องกรุงเทพฯ–ชลบุรี มี.ค. 65 เล็งขยายเส้นทางอีสาน–ตะวันตก–เหนือหลังฟีดแบ็คเส้นทาง “กรุงเทพฯ–โคราช” ดีต่อเนื่อง แห่จองเดินทางช่วงปีใหม่เต็มทุกที่นั่ง ลั่น! ไม่หวั่นพิษโควิด-19
นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX เปิดเผยว่า ในปี2565 บริษัทฯ ได้ใช้งบลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท ระบบการจัดเก็บตั๋วโดยสาร และผลิตรถโดยสารให้ได้จำนวน470 คัน เนื่องจากมีแผนจะเปิดเส้นทางเดินรถรถโดยสารประจำทางให้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งในขณะนี้การขอใบอนุญาตเส้นทางเดินรถเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยเบื้องต้นจะเปิดเพิ่ม 10 เส้นทาง แบ่งเป็น ภาคตะวันออกจำนวน 5 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ–พัทยา กรุงเทพฯ–สัตหีบ กรุงเทพฯ–ศรีราชา กรุงเทพฯ–ระยอง และกรุงเทพฯ–ฉะเชิงเทรา โดยได้จัดเตรียมรถโดยสารไฟฟ้าขนาดเล็ก(มินิบัส) ขนาด 7.6 เมตร จำนวน 20 ที่นั่ง จำนวน 150 คัน เส้นทางละ 30 คันให้บริการ ค่าโดยสารตามที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กำหนด ประมาณ 100-120 บาทต่อคนต่อเที่ยวตามระยะทาง
ทั้งนี้ คาดว่าจะได้รับความสนใจจากผู้โดยสารที่ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง หรือประมาณ 80% หรือ 16 คนต่อคันต่อเที่ยว เนื่องจากเส้นทางที่ให้บริการในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development : EEC) เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก
และมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าว เช่นเดียวกับคาดการณ์ว่า จะได้รับความสนใจของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาเดินรถในเส้นทางดังกล่าวข้างต้น ซึ่งล่าสุด พบว่า มีผู้สนใจหลายราย โดยหลังจากนี้บริษัทฯ จะพิจารณาคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ความมั่นคงทางการเงินเป็นต้น
นอกจากนี้ ในขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเรื่องสถานที่จอดรถ และ จุดจอดรับส่งผู้โดยสาร คาดว่าจะให้บริการช่วงต้นทางกำหนดไว้ที่ไบเทคบางนา ซึ่งได้มีการหารือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากเดิมที่รถโดยสารที่ให้บริการเส้นทางไปยังพื้นที่ EEC จะต้องไปขึ้นรถโดยสารที่สถานีขนส่งผู้โดยสารเอกมัย และสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ(จตุจักร) หรือหมอชิต 2 เท่านั้น แต่ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวก
อีกทั้ง ยังเป็นทางเลือกหนึ่งให้ผู้โดยสารที่สามารถใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสมาลงที่สถานีบางนา แล้วสามารถนั่งรถมินิบัสเดินทางไปยังพื้นที่ EEC ได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปยังสถานีขนส่งเอกมัยและสถานีขนส่งหมอชิต 2 อย่างไรก็ตาม คาดว่าเส้นทางกรุงเทพฯ–พัทยา กรุงเทพฯ–สัตหีบ กรุงเทพฯ–ศรีราชา จะสามารถเปิดให้บริการได้ช่วงเดือน มี.ค. 2565
นายคณิสสร์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ในปี 2565 บริษัทฯ เตรียมเปิดให้บริการเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ–อุดรธานี กรุงเทพฯ–อุบลราชธานี และกรุงเทพฯ–บุรีรัมย์ จะใช้รถโดยสารไฟฟ้าขนาด 12 เมตรชั้นเดียว จำนวน 32 ที่นั่งให้บริการ ขณะนี้ อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเรื่องอู่จอดรถ จุดขึ้น–ลงผู้โดยสาร และสถานีชาร์จไฟฟ้า เนื่องจากเส้นทางเหล่านี้มีระยะทางไกล อีกทั้ง รถโดยสารไฟฟ้ายังมีข้อจำกัดเรื่องสถานีชาร์จแบตเตอรี่ เพราะในไทยยังมีรถโดยสารไฟฟ้าให้บริการไม่มากนัก
ดังนั้น ควรจะต้องมีสถานีชาร์จในระหว่างทาง ในระหว่างที่รถโดยสารเข้าจุดพักรถตามเงื่อนไขที่ ขบ. กำหนดว่า ถ้าระยะทางเกิน 400 กม. ควรหยุดพัก 30 นาที สอดคล้องกับระยะเวลาการเวลาชาร์จรถไฟฟ้าประมาณ 30 นาที ในระหว่างที่จอดพักรถนี้ให้ผู้โดยสารลงไปทำธุระส่วนตัวได้ ส่วนรถโดยสารจะได้ชาร์จแบตเตอรี่ด้วย รวมทั้งการกำหนดอัตราค่าโดยสารให้เป็นไปตามเงื่อนไขของ ขบ. กำหนด หากมีความพร้อมแล้วจะประชาสัมพันธ์ในการเปิดให้บริการต่อไป นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะเปิดเส้นทางภาคตะวันตก 1 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ–หัวหิน และภาคเหนือ 1 เส้นทางคือ กรุงเทพฯ–นครสวรรค์ ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการให้บริการเช่นเดียวกัน
ในส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ–นครราชสีมา ที่ได้เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา นายคณิสสร์กล่าวว่า ได้รับผลการตอบรับดีจากผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยมีผู้โดยสารประมาณ 15-20 คนต่อคันต่อเที่ยวส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ก้าวขึ้นเป็นผู้ให้บริการอันดับ 1 จากผู้ประกอบการทั้งหมด 4 ราย เนื่องจากบริษัทฯ ถือเป็นรายเดียวที่ให้บริการด้วยรถไฟฟ้า ประกอบกับการพัฒนาคุณภาพ และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันขณะที่ เทศกาลปีใหม่ 2565 ที่จะถึงนี้ พบว่า มีประชาชนจองตั๋วโดยสารเดินทางเต็มทุกที่นั่งแล้วด้วย
สำหรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถโดยสารเพิ่มครั้งนี้ ทางบริษัทฯ ไม่ได้มองว่าจะมีความเสี่ยง เนื่องจากตอนนี้ผู้ประกอบการรถโดยสารหลายเส้นทางได้เลิกให้บริการไปหลายรายแล้ว เพราะผลกระทบจากโควิด-19 และยังมีคู่แข่งสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) แต่ที่ผ่านมาสายการบินโลว์คอสต์ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ เชื่อว่า การให้บริการรถโดยสารนั้น จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ผู้โดยสารที่ใช้บริการ อีกทั้งบริษัทฯ ได้ใช้รถโดยสารไฟฟ้า มีต้นทุนการดำเนินการที่ถูกกว่า รวมถึงเป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) มีสภาพที่ใหม่ ทันสมัย และเข้มงวดตามมาตรการสาธารณสุขในการป้องกันโควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารเกิดความมั่นใจในการใช้บริการ ควบคู่กับได้บริการที่สะดวก สบาย และปลอดภัย