สนข. กางแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำ ‘กทม.-ปริมณฑล’ เปิดเส้นทางเดินเรือ 14 เส้นทาง ระยะทาง 285 กม. คาดมีผู้โดยสารแตะ 3.54 แสนคน/วัน
สนข. จัดหยั่งเสียงแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตพื้นที่ “กทม.-ปริมณฑล” เปิดเส้นทางเดินเรือ 14 เส้นทาง 3 เฟส ระยะทาง 285 กม. พร้อมเชื่อมต่อ ล้อ-ราง-เรือ เพิ่มขึ้น 45 จุด คาดปริมาณผู้โดยสารในอนาคตกว่า 3.54 แสนคน/วัน
นายสุรพงษ์ เมี้ยนมิตร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น วันนี้ (20 ธ.ค. 2564) ว่า ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ได้ให้นโยบาย สนข. ในการยกระดับการเดินทางทางน้ำ
ประกอบกับพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการและมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจัดบริการขนส่งทางน้ำในคลองอื่นๆ ที่ขนานกับถนนสายหลัก เพื่อลดปริมาณการจราจรบนถนน อีกทั้ง เป็นระบบขนส่งเสริม และทางเลือกในการเดินทางให้ประชาชน แล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อผลักดันแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำไปสู่การปฏิบัติต่อไป
ล่าสุดได้จัดสัมมนาดังกล่าว เป็นการนำเสนอผลการศึกษาของโครงการแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขต กทม. และปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น ซึ่งแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำฯ มีรายละเอียดที่สำคัญ โดยเป็นโครงข่ายการเดินทางทางน้ำในเขต กทม. และปริมณฑล จำนวน 3 ระยะ 14 เส้นทาง ระยะทาง 206.9 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย
ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2565 – 2570) จำนวน 5 เส้นทาง ได้แก่
- S1 เส้นทางเดินเรือในคลองแสนแสบส่วนต่อขยาย ช่วงวัดศรีบุญเรืองถึงถนนสุวินทวงศ์ ระยะทาง 12 กม. และเส้นทางเดินเรือในคลองบางลำพู ช่วงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถึงป้อมพระสุเมรุ ระยะทาง 1.5 กม.
- S2 เส้นทางเดินเรือในคลองขุดมหาสวัสดิ์ ช่วงประตูน้ำมหาสวัสดิ์ถึงวัดชัยพฤกษมาลา ระยะทาง 28 กม.
- S3 เส้นทางเดินเรือในคลองบางกอกน้อย ช่วงวัดชะลอถึงศิริราช ระยะทาง 7.1 กม.
- S4 เส้นทางเดินเรือในคลองลาดพร้าว ช่วงสายไหมถึงพระโขนง ระยะทาง 25.7 กม.
- S5 เส้นทางเดินเรือในคลองเปรมประชากร ช่วงวัดรังสิตถึงบางซื่อ ระยะทาง 20.5 กม.
ระยะกลาง (พ.ศ. 2571-2575) จำนวน 5 เส้นทาง ได้แก่
- M1 เส้นทางเดินเรือในคลองประเวศบุรีรมย์ส่วนต่อขยาย ช่วงตลาดเอี่ยมสมบัติถึงวัดสังฆราชา ระยะทาง 21.4 กม.
- M2 เส้นทางเดินเรือในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ช่วงตลาดรังสิตถึงโลตัสคลอง 7 ระยะทาง 18 กม. (หากกรมชลประทานสามารถบริหารจัดการรักษาระดับน้ำให้เหมาะสมกับการเดินเรือได้ตลอดทั้งปี)
- M3 เส้นทางเดินเรือในคลองลาดพร้าวส่วนต่อขยาย (คลองสอง) ช่วงถนนสายไหม-คูคต ถึงประตูน้ำคลองสอง ระยะทาง 8.5 กม.
- M4 เส้นทางเดินเรือในคลองภาษีเจริญส่วนต่อขยาย ช่วงถนนเพชรเกษม 69 ถึงประตูน้ำกระทุ่มแบน ระยะทาง 16.5 กม.
- M5 เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนต่อขยาย ช่วงปากเกร็ดถึงที่ว่าการอำเภอเมืองจังหวัดปทุมธานี ระยะทาง 15 กม.
ระยะยาว (พ.ศ. 2576-2585) จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่
- L1 เส้นทางเดินเรือในคลองอ้อมนนท์ ช่วงวัดโตนดถึงแยกคลองบางกรวย ระยะทาง 18.3 กม.
- L2 เส้นทางเดินเรือในคลองบางกอกใหญ่ ช่วงแยกคลองบางขุนศรีถึงวัดกัลยาณมิตร ระยะทาง 6.2 กม.
- L3 เส้นทางเดินเรือในคลองมอญ ช่วงถนนอรุณอัมรินทร์ถึงแยกคลองบางขุนศรี ระยะทาง 3 กม.
- L4 เส้นทางเดินเรือในคลองชักพระ ช่วงถนนบางขุนนนท์ถึงถนนจรัญสนิทวงศ์ 25 ระยะทาง 5.2 กม.
2.การดำเนินการตามแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำฯ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงสภาพทางกายภาพของคลอง เช่น การขุดลอกคลอง การจัดทำเขื่อนป้องกันตลิ่ง การปรับปรุงท่าเรือ การเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณท่าเรือ และการพัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่นเพื่อเพิ่มความสะดวกและเป็นทางเลือกในการเดินทางให้ประชาชน
3.ส่วนการเดินเรือ ตามแนวยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมมุ่งเน้นการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปลอดภัย (GREEN TRANSPORT) และเน้นการใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานทางเลือก เช่น การใช้เรือไฟฟ้า เป็นต้น
4.ส่วนอื่นๆ ที่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้แผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำฯ ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ด้านการพัฒนาทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพรองรับการเดินทาง อาทิ การส่งเสริมการเดินทางในเส้นทางเดินเรือที่มีศักยภาพ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือ สิ่งอำนวยความสะดวก แม่น้ำและคลองให้พร้อมต่อการเดินเรือ ด้านการยกระดับการเดินทางทางน้ำให้เชื่อมโยงกับการเดินทางรูปแบบอื่นแบบไร้รอยต่อ อาทิ การเชื่อมโยงการเดินทางทางน้ำกับการเดินทางรูปแบบอื่น และการเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงท่าเรือ
ด้านการเพิ่มการใช้ประโยชน์จากระบบการเดินทางทางน้ำอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ อาทิ การเพิ่มความสามารถและความเข้มแข็งของการให้บริการของผู้ประกอบการ และการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ และด้านการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการพัฒนาการเดินทางทางน้ำ อาทิ การปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และการเพิ่มบทบาทเอกชนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการท่าเรือและการจัดการให้บริการเดินเรือในแม่น้ำและคลอง
โดยผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำฯ จะเพิ่มความยาวโครงข่ายการเดินทางทางน้ำ จาก 77 กม. ในปัจจุบัน เป็น 285 กม. ในอนาคต จำนวนเส้นทางเดินเรือ เพิ่มขึ้นจาก 5 เส้นทางในปัจจุบัน เป็น 14 เส้นทางในอนาคต จำนวนท่าเรือ เพิ่มขึ้นจาก 118 ท่า ในปัจจุบัน เป็น 277 ท่า ในอนาคต จำนวนจุดเชื่อมต่อ ล้อ-ราง-เรือ เพิ่มขึ้น เป็น 45 จุด ในอนาคต และปริมาณผู้โดยสารทางน้ำ เพิ่มขึ้นจาก 193,000 คนต่อวัน เป็น 354,000 คนต่อวัน ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำฯ จะเกิดขึ้นได้ ก็จากความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้การเดินทางทางน้ำเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม