“ศักดิ์สยาม” ลงพื้นที่ตรวจงานโคราช กาง 4 โปรเจ็กต์ “ขยายโครงข่าย–ปรับปรุงเส้นทาง” มูลค่ารวมกว่า 1.15 พันล้าน พร้อมจ่อชง ครม. ไฟเขียวไฮสปีดเทรนเฟส 2 “โคราช–หนองคาย” ระยะทาง 356 กม. ในปี 65 เปิดให้บริการปี 71
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการขยายช่องทางจราจรและปรับปรุงเส้นทางหลวงในพื้นที่ จ.นครราชสีมา วันนี้ (17 ธ.ค. 2564) ว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั่วประเทศอย่างบูรณาการ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนให้สามารถเดินทางสัญจรได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจจากโครงการก่อสร้างถนนเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
ทั้งนี้ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมดำเนินงานพัฒนาปรับปรุงเส้นทางหลวงและขยายช่องทางการจราจรในพื้นที่ จ.นครราชสีมา โดยกรมทางหลวง (ทล.) ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว ดำเนินการปรับปรุงเส้นทางหลวง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจราจร นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการก่อสร้างทางคู่ขนาน รวมถึงปรับปรุงทางแยกขนาดใหญ่ 4 โครงการ วงเงินรวม 1,154 ล้านบาท ดังนี้
- งานก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 224 ดำเนินการขยายช่องทางจราจรจากเดิม 2 ช่องทางจราจรเป็น 4 ช่องจราจร บริเวณทางหลวงตอนพะโค–หนองสนวน ระหว่าง กม. ที่ 47+100-49+313 ระยะทาง 2.213 กิโลเมตร (กม.) ใช้งบประมาณปี 2565 วงเงินก่อสร้าง 60 ล้านบาท รูปแบบการก่อสร้างขยายช่องจราจรกว้างช่องละ3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 เมตร เกาะกลางแบบ SINGLE SLOPE BARRIER (SSB) และก่อสร้างผิวทางแบบผิวแอสฟัลท์คอนกรีต 2 ชั้น
- โครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 224 งานขยาย 4 ช่องจราจร บริเวณทางหลวงสายบ้านโคกกรวด–บ้านหนองสนวน ระหว่าง กม. ที่ 66+331-80+000 และ กม. ที่ 92+555-102+000 ระยะทางรวม 23.114 กม. วงเงินก่อสร้าง 980 ล้านบาท อยู่ระหว่างเสนอขอเงินกู้ปี 2565
- งานก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพทางคู่ขนาน ตอนสี่แยกโชคชัย–หนองมัน ระหว่าง กม. ที่ 70+205-72+275 และ กม. ที่ 72+975-76+000 ระยะทางรวม 5.095 กม. วงเงินก่อสร้าง 74 ล้านบาท ใช้งบประมาณปี 2565 รูปแบบการก่อสร้างเป็นทางคู่ขนานกว้าง 9 เมตร ก่อสร้างผิวทางแบบผิวแอสฟัลท์คอนกรีต โดยก่อสร้างแยกออกจากทางจราจรหลักด้านขวาทาง ระยะห่างประมาณ 14.50 เมตร และก่อสร้างจุดเข้าออกระหว่างทางคู่ขนานกับทางหลวงสายหลักเป็นระยะๆ
- โครงการปรับปรุงทางแยกขนาดใหญ่และงานขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 24 กม. ที่ 70+205 ตัดกับทางหลวงหมายเลข 2298 กม. ที่ 0+000 (แยกแหลมทอง) ระยะทาง 0.600 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 40 ล้านบาทโดย ทล. จะเสนอของบประมาณปี 2566
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันกระทรวงคมนาคม กำลังดำเนินการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ–หนองคาย
นอกจากนี้ มีแผนงานที่จะก่อสร้างระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา–หนองคาย ระยะทาง 356 กม. โดยในขณะนี้ โครงการออกแบบแล้วเสร็จอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ในปี 2565 เปิดใช้บริการได้ในปี 2571 ส่วนระยะที่ 3 ช่วงหนองคาย–เวียงจันทร์ ระยะทาง 16 กม. เพื่อเชื่อมการขนส่งสินค้าระหว่างไทย–สปป. ลาว–จีนในอนาคต
ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคมกำลังพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อพัฒนาระบบการขนส่งจะในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือให้เชื่อมโยงและครอบคลุมเชื่อมโยงทุกเครือข่าย ช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็ว ให้ประชาชนในการเดินทาง ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างต่างๆ แล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการคมนาคมขนส่งบนโครงข่ายทางหลวงที่สำคัญของประเทศ
อีกทั้ง ยังแก้ไขปัญหาการจราจรและรองรับการจราจรที่มีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต ส่งผลให้การเดินทางและการขนส่งสินค้ามีความรวดเร็ว สะดวก และปลอดภัย สามารถลดอุบัติเหตุป้องกันความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ช่วยส่งเสริมศักยภาพการกระจายความเจริญทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียงอย่างยั่งยืนต่อไป