ทล. กางแผน 4 โปรเจ็กต์ PPP ปี 65 มูลค่าเกือบแสนล้าน จัดเต็ม “มอเตอร์เวย์–โทลล์เวย์–จุดพักรถ” ด้าน“บิ๊กไฮเวย์” สนองแนวคิด “ศักดิ์สยาม” พิจารณาบางโครงการผ่านระดมทุน TFFIF ชี้ต้องเหมาะสม–รอบคอบ เผยเตรียมส่งมอบพื้นที่แจ้งเริ่มงาน O&M มอเตอร์เวย์ 2 สาย “M6 & M81” วันที่ 20 ธ.ค.นี้ คาดเปิดทดลองให้บริการได้ภายในปี 66
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ในปี 2565 ทล.เตรียมเปิดประมูลโครงการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ประมาณ 4 โครงการ วงเงินรวม 96,991 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 (M9) สายถนนวงแหวนตะวันตก ช่วงบางบัวทอง–บางปะอิน ระยะทาง 36 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 56,035 ล้านบาท
2.โครงการส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ช่วงรังสิต–บางปะอิน ระยะทาง 18 กม. วงเงิน39,956 ล้านบาท โดยจะใช้จากเงินกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) เพื่อชำระหนี้คืนหลังจากโครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 82 (M82) สายบางขุนเทียน–บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย–บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กม. ที่คาดว่า จะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2567
3.โครงการก่อสร้างจุดพักรถ (Rest Area) บนมอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 (M7) กรุงเทพฯ–ชลบุรี–พัทยา–มาบตาพุดช่วงพัทยา–มาบตาพุด ซึ่งจะคร่อมบนมอเตอร์เวย์ ซึ่งเป็นต้นแบบจากประเทศเกาหลีใต้ ตั้งอยู่บนพื้นที่ อ.บางละมุงจ.ชลบุรี พื้นที่ 66 ไร่ วงเงิน 300 ล้านบาท
และ 4.โครงการก่อสร้างจุดพักรถบนมอเตอร์เวย์ M7 ช่วงชลบุรี–พัทยา จุดพักรถพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พื้นที่ 117 ไร่วงเงิน 700 กว่าล้านบาท เบื้องต้นโครงการก่อสร้างจุดพักรถทั้ง 2 โครงการจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบผลการศึกษาโครงการฯ ต่อไป
นายสราวุธ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ ทล., กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไปศึกษาแนวทางการระดมทุนผ่านกองทุน TFFIF เพื่อลดภาระงบประมาณภาครัฐว่า ทล. ยืนยันว่าปัจจุบันไม่มีการใช้แนวทางการระดมทุนผ่านกองทุน TFFIF กับโครงการต่างๆ ของ ทล.
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการใช้แนวทางดังกล่าว มีกระบวนการขั้นตอนในการขอกู้เงินจากกระทรวงการคลัง โดยส่วนใหญ่โครงการฯ ที่อยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบของ ทล. จะใช้จากการของบประมาณจากภาครัฐ และเงินกองทุนมอเตอร์เวย์ รวมทั้งรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เป็นหลัก
ทล. จะนำข้อเสนอแนะจากนายศักดิ์สยาม ไปศึกษากับบางโครงการของ ทล. ที่เหมาะสมว่า สามารถทำได้หรือไม่ส่วนโครงการสะพานข้ามเกาะลันตา จ.กระบี่ ของ ทช.นั้น อาจเป็นโครงการอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจเหมาะแก่การใช้แนวทางการระดมทุนผ่านกองทุน TFFIF ซึ่งจะต้องดูรายละเอียดเกี่ยวกับกฎระเบียบจะต้องดำเนินการได้อย่างไร” นายสราวุธ กล่าว
นายสราวุธ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 6 (M6) สายบางปะอิน–นครราชสีมา ระยะทาง196 กม. วงเงิน 21,329 ล้านบาทว่า ปัจจุบันความคืบหน้าการก่อสร้างงานโยธา 95% โดยการก่อสร้างงานโยธาทั้งหมด 40 ตอน ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 23 ตอน ซึ่งเหลืออีก 17 ตอนที่ยังติดปัญหาเรื่องการปรับแบบก่อสร้างงานโยธา
ทั้งนี้ ทล.เตรียมออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ซึ่งประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น(STECON) และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เข้าพื้นที่เริ่มงานในส่วนของงานระบบ (O&M) ภายในวันที่ 20 ธ.ค. 2564 นี้
โดยในเบื้องต้นจะส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนในระยะแรกทั้งหมด 9 ด่าน ประกอบด้วย 1.ด่านบางปะอิน 2.ด่านวังน้อย3.ด่านหินกอง 4.ด่านสระบุรี 5.ด่านแก่งคอย 6.ด่านมวกเหล็ก 7.ด่านปากช่อง 8.ด่านสีคิ้ว และ 9.ด่านขามทะเลสอนอกจากนี้ ในส่วนตอนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 23 ตอนนั้น ระยะแรกจะส่งมอบพื้นที่จำนวน 20 ตอนก่อน ส่วนอีก 3 ตอนที่เหลือ อยู่ระหว่างดำเนินการการตรวจรับงานงวดสุดท้าย โดยจะส่งมอบพื้นที่ในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า จะเปิดทดลองใช้ให้บริการภายในกลางปี 2566
ขณะที่ ความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 (M81) สายบางใหญ่–กาญจนบุรี ระยะทาง96 กม. วงเงิน 17,809 ล้านบาท นายสราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันความคืบหน้าการก่อสร้างงานโยธากว่า 60% เบื้องต้นทล. จะออกหนังสือให้เริ่มงานให้กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR เข้าพื้นที่เริ่มงานภายในวันที่ 20 ธ.ค. 2564 เช่นเดียวกับมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน–นครราชสีมา
ทั้งนี้ ในระยะแรก ทล.จะส่งมอบพื้นที่ จำนวน 8 ด่าน ประกอบด้วย 1.ด่านบางใหญ่ 2.ด่านนครชัยศรี 3.ด่านศรีษะทอง4.ด่านนครปฐมฝั่งตะวันออก 5.ด่านนครปฐมฝั่งตะวันตก 6.ด่านท่าม่วง 7.ด่านท่ามะกา และ 8.ด่านกาญจนบุรี รวมทั้งสัญญาการก่อสร้างงานโยธาทั้ง 3 ตอนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะเปิดทดลองใช้ให้บริการภายในปลายปี 2566