‘คมนาคม’ ผุด! อุตสาหกรรมระบบราง ภายในปี 68 ต้องผลิตตู้รถไฟเท่านั้น!!!

“คมนาคม” ระบบกึ๋นร่วม ก.อุตฯ-ก.คลัง-BOI ย้ำชัดภายในปี 68 อุตฯระบบรางต้องผลิตภายในประเทศเท่านั้น หวังช่วยลดต้นทุนไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้าน ขีดเส้นเสนอ ครม.พิจารณาภายในรัฐบาลชุดนี้

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก หรือ คจร. ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อความยั่งยืนในระบบรางของประเทศ ดังนั้นจึงได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อสรุปแนวทางดำเนินงาน เบื้องต้นตั้งเป้าหมายว่าจะเสนอแผนแม่บทและเงื่อนไขเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.พิจารณาภายในรัฐบาลชุดนี้ สำหรับแผนแม่บทดังกล่าวนั้น จะบังคับใช้ครอบคลุมโครงการรถไฟฟ้าในเมือง โครงการรถไฟฟ้าทางคู่ และโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงรวมถึงโครงการระบบรางทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ แบ่งเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย 1.ภายในปี 2563 การจัดซื้อจัดจ้างและเปิดประมูลโครงการระบบรางทั้งหมด จะกำหนดให้มีการซื้อตู้รถไฟและตู้รถไฟฟ้าจากผู้ผลิตภายในประเทศ หรือผู้ผลิตที่มีแผนจะลงทุนผลิตในประเทศเท่านั้นโดยเขียนระบุเป็นเงื่อนไขไว้ในร่างขอบเขตเงื่อนไขการประกวดราคา(TOR)

2.ภายในปี 2565 กำหนดให้การส่งมอบตู้รถไฟและตู้รถไฟฟ้าในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐทั้งหมด จะต้องประกอบชิ้นสุดท้ายในโรงงานภายในประเทศ 3.ภายในปี 2567 กำหนดให้การส่งมอบตู้รถไฟและตู้รถไฟฟ้าในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐทั้งหมด จะต้องใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ โดยราคาของมูลค่าชิ้นส่วน (Local Content) จะต้องไม่น้อยกว่า 40% และ 4.ภายในปี 2568 เป็นต้นไป กำหนดให้การส่งมอบตู้รถไฟและตู้รถไฟฟ้า การซ่อมบำรุง รวมถึงระบบอาณัติสัญญาณ ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐทั้งหมด จะต้องผลิตภายในประเทศทั้งหมด และต้องมีการผลิตชิ้นส่วนหลัก ที่เป็นสาระสำคัญ อาทิ ตัวรถ ตู้โดยสาร ห้องควบคุม ระบบช่วงล่าง โบกี้ ระบบห้ามล้อ ระบบเชื่อมต่อ ระบบไฟฟ้า เป็นต้น

สำหรับผลการศึกษาตัวเลขของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น พบว่าในอนาคตเมื่อกำหนดการใช้ Local Content 40% แล้วจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถลดต้นทุนการผลิตรถไฟฟ้าและการนำเข้าอุปกรณืชิ้นส่วนได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 1. การลดต้นทุนจากการผลิตตัวรถและต้นทุนการนำเข้าชิ้นส่วน 1.8 หมื่นล้านบาท/ปี/รถไฟ 1,000 ตู้ 2.การลดต้นทุนค่าซ่อมบำรุงและค่าบุคลากรผู้เชี่ยวชาญอีกประมาณ 4.3 พันล้านบาท/ปี ขณะเดียวกันจสกผลการศึกษาของกระทรวงอุตสาหกรรมพบว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีปริมาณของตู้รถไฟและรถไฟฟ้า มากกว่า 1,000 ตู้ โดยในปัจจุบันมีตู้รถไฟและตู้รถไฟฟ้าอยู่แล้ว ได้แก่ รถไฟฟ้าจำนวน 413 ตู้ และรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. จำนวน 3,308 ตู้ แบ่งเป็นรถไฟตู้โดยสาร จำนวน 1,183 ตู้ รถไฟชุดจำนวน 228 ตู้ และแคร่จำนวน 1,897 ตู้

อย่างไรก็ตาม ด้านการส่งเสริมการลงทุนของ BOI นั้น จะให้สิทธิพิเศษด้านการยกเว้นภาษีการจัดตั้งโรงงานและสิทธิพิเศษด้านอื่นๆให้กับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาก่อตั้งโรงงานใน 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC พื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมา และพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่น จึงมองว่าจะเห็นโรงงานผลิตแห่งแรกในปี 2565

“เราลงทุนระบบรางเยอะ เราตั้งใจว่า ต่อไประบบรางจะเป็นระบบหลักของประเทศ ทั้งการขนส่งคนและการขนส่งสินค้า เพราะว่าการพัฒนาระบบราง จะต้องพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางด้วย ซึ่งจากแผนนั้น สมมติว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. มีโครงการ PPP ในสายไหน จะต้องใส่เงื่อนไขเข้าไปใน TOR ให้คนที่จะเข้ามาประมูล รวมไปถึงโครงการของกรุงเทพมหานคร หรือ กทม.ในอนาคตด้วย เพราะเป็นโครงการของภาครัฐ” นายชัยวัฒน์ กล่าว