จ่อชง! ครม. เคาะ ทอท.บริหาร 3 สนามบินส่งตรงจาก ทย. ในช่วง ม.ค. 65 คาดปีหน้าผู้โดยสารหดเหลือ 62 ล้านคน ยัน ‘โอไมครอน’ ไม่กระทบบินภายในประเทศ

ทอท. เตรียมเสนอคมนาคม ชง ครม. เคาะบริหาร 3 สนามบินจาก ทย. ช่วง ม.ค. 65 วางคอนเซ็ปต์ “อุดรฯ-บุรีรัมย์” ฮับ & เกตเวย์ภาคอีสาน รองรับไฮสปีดเทรนเชื่อม สปป.ลาว-กัมพูชา ด้าน “กระบี่” ปั้นรับผู้โดยสารล้นจากภูเก็ต พร้อมคาดปีหน้ามีผู้โดยสาร 62 ล้านคน ยัน “โอไมครอน” ไม่กระทบผู้โดยสารภายในประเทศ

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการรับมอบความรับผิดชอบการบริหารจัดการ 3 ท่าอากาศยานจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้แก่กระบี่ บุรีรัมย์ และอุดรธานีว่า กระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แก้มติ ครม. เดิมที่มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปพิจารณาโอน 4 สนามบิน ได้แก่ กระบี่ บุรีรัมย์ ตาก และอุดรธานี เปลี่ยนเป็น มอบความรับผิดชอบบริหาร 3สนามบิน ด้วยแนวทางการสร้างศูนย์กลาง (ฮับ) ใหม่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน)

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากในปัจจุบัน ทอท .มีศูนย์กลางการบินอยู่ทางภาคเหนือ คือ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง .เชียงราย เป็นเกตเวย์ ขณะที่ ภาคใต้ มีท่าอากาศยานภูเก็ต เป็นศูนย์กลางฯ และเกตเวย์คือ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ส่วนศูนย์กลางการบินของภาคกลาง หรือกรุงเทพมหานคร (กทม.) มี 2 ท่าอากาศยานได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง โดย 1 ใน 3 ของท่าอากาศยานที่ ทอท. จะมาบริหารจัดการนั้น คือ ท่าอากาศยานกระบี่นั้น เมื่อ ทอท. ได้รับมอบมาบริหารจัดการแล้วนั้น จะช่วยบรรเทาปริมาณผู้โดยสารของท่าอากาศยานภูเก็ต เนื่องจาก แผนเดิมจะดำเนินการสร้างท่าอากาศยานพังงา (ภูเก็ต 2) แต่มีความล่าช้า เพราะต้องมีการเวนคืนที่ดินด้วย

ส่วนอีก 2 สนามบิน คือ อุดรธานี และบุรีรัมย์นั้น ขณะนี้การจราจรบินตัดกันไปตัดกันมาบนน่านฟ้า จึงเกิดความหนาแน่น ดังนั้น การเลือกสนามบินอุดรธานีนั้น จะช่วยเพิ่มน่านฟ้าที่ของภาคอีสานทางด้านบน และมีสนามบินบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นน่านฟ้าเดียวที่ยังว่าง จึงมีความเหมาะสม โดยการรับผิดชอบสนามบุรีรัมย์ อย่าโยงไปเรื่องการเมือง ซึ่งความเป็นจริงถือเป็นน่านฟ้าเดียวที่ยังว่าง และไม่ติดเขตน่านฟ้าทหาร มองว่ามีโลเคชั่นที่ดี เป็นเกตเวย์สามารถเชื่อมไปยังเขมรได้ ซึ่งทั้ง 2 สนามบินด้วยแนวคิดของการสร้างฮับการบิน ซึ่งทอท.เดินหน้าเต็มตัวแน่นอน เพราะในปี 2567-2569 เราต้องการเห็นฮับที่สามารถเชื่อมไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ อาทิ สปป.ลาว และกัมพูชานายนิตินัย กล่าว

นายนิตินัย กล่าวอีกว่า สำหรับในปี 2565 ทอท.ได้ปรับค่าประมาณการผู้โดยสารลดลง 50% เนื่องจากปริมาณการเดินทางยังคงฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้และสถานการณ์โควิด-19 ร้ายแรงกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งเดิม ทอท. คาดการณ์ว่า ในปี 2565 ผู้โดยสารจะกลับมาที่ 113 ล้านคน แต่จากการประเมินล่าสุด พบว่า ในปี 2565 จะมีปริมาณผู้โดยสารเหลือแค่ประมาณ 62 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารภายในประเทศ (Domestic) จำนวน 35 ล้านคน และผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International) จำนวน 26 ล้านคน เช่นเดียวกับการปรับตัวเลขคาดการณ์ผู้โดยสารในปี 2566 ซึ่งปรับลดจากเดิมที่ 147 ล้านคน/ปี ปรับเป็น 116 ล้านคน/ปี

แฟ้มภาพ

ในส่วนของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมคร่อนนั้น ทอท. เชื่อว่า จะยังไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณเดินทางของผู้โดยสารภายในประเทศ หลังพบว่า มาตรการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว ส่งผลให้แนวโน้มการเดินทางเริ่มทยอยฟื้นตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะยอดผู้โดยสารภายในประเทศคาดว่าภายใน 5-6 เดือน ปริมาณจะกลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ขณะที่ ผู้โดยสารระหว่างประเทศนั้น หลังเปิดประเทศมีสายการบินระหว่างประเทศได้ทำการขอจองสล็อตการบินเพิ่มขึ้น 20% เป็นไปในทิศทางเดียวกับปริมาณผู้โดยสารต่างชาติที่กลับมาเติบโต 100% จากเดิม2,000 คน/วัน เพิ่มเป็น 4,000 คน/วัน

นายนิตินัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยานนั้น ได้ปิดกิจการไปแล้วกว่า 52% กล่าวคือ ร้านค้าและธุรกิจบริการภายในสนามบินมากกว่าครึ่งนึงปิดหมดแล้ว ขณะที่ ผู้ประกอบการที่กำลังจะเตรียมปิดกิจการนั้นมีอีกประมาณ 26.94% ของผู้ประกอบการทั้งหมด หรือจำนวน 2,783 สัญญา โดยปิดกิจการไปแล้วหลังจากเกิดโรคระบาดโควิด-19 คิดเป็น 900 สัญญา ขณะที่ผู้ประกอบการที่เหลืออีกกว่า 2,250 สัญญานั้น คาดว่าประมาณ 50% ที่เหลือ มีแนวโน้มจะปิดกิจการ

ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์เป็นปริมาณเชิงพื้นที่นั้น พบว่า พื้นที่เชิงพาณิชย์กว่า 1 ใน 3 หรือ 115,000 ตร..นั้น มีธุรกิจหยุดประกอบการไปแล้ว และยังมีที่ว่างเหลืออยู่อีก 113,000 ตร.. ซึ่งถือเป็นพื้นที่ว่างมีผู้ประกอบการมากกว่า 50% ของพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งหมดหรือราว 430,000 ตร.. ดังนั้น ทอท. จึงเตรียมขยายมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยาน ซึ่งถือว่า มีความจำเป็นต้องดำเนินการช่วยเหลือให้ธุรกิจเหล่านั้นให้ดำเนินต่อไปได้ เพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติในอนาคต

สำหรับมาตรการช่วยเหลือนั้น ทอท.จะขยายมาตรการช่วยเหลือเดิมออกไปอีก 1 ปี หรือจนถึง มี.. 2566 จากเดิมที่จะสิ้นสุดใน มี.. 2565 สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการภายในท่าอากศยานกว่า 66% ระบุว่ามาตรการช่วยเหลือยังคงไม่มากพอ รวมถึงสอดคล้องกับผู้ประกอบการสายการบินกว่า 79% ที่ลงความเห็นไปในทิศทางดังกล่าว ในทางกลับกัน ทอท.ได้ทำการประเมินความคุ้มทุนวึ่งพบว่า มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการจะทำให้ ทอท.มีรายได้เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นในปี 2565 อยู่ที่ 3,037 ล้านบาท และในปี 2566 เพิ่มขึ้น 6,171 ล้านบาท

ทั้งนี้ ถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับการไม่ช่วยเหลือแล้วปล่อยให้ผู้ประกอบการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจนอาจไปต่อไม่ไหวต้องปิดกิจการถาวร ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ทอท.คาดว่าจะใช้เวลาถึง 10 ปี เพื่อหาผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาทดแทนผู้ประกอบการเดิมทั้งหมด นอกจากนี้ฝ่ายวิเคราะห์ยังพบอีกว่าการส่งเสริมมาตรการช่วยเหลือนั้นจะทำให้ผู้ประกอบการทั้งกลุ่มร้านค้าปลีก กลุ่มร้านอาหารและกลุ่มธุรกิจบริการ มีความสามารถชำระค่าเช่าให้กับทอท.ตามสัญญาที่ได้กำหนดกันไว้ เช่เนดียวกับสัญญาของ King Power ที่จะมีการพิจารณาขยายระยะเวลาไปด้วยเช่นกันตามมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว