‘ทางหลวง’ จ่อลงนาม 10 ผู้รับจ้างมอเตอร์เวย์ M82 ‘เอกชัย-บ้านแพ้ว’ มูลค่า 1.97 หมื่นล้านภายในปีนี้ คาดเปิดให้บริการเต็มรูปแบบต้นปี 68
“ทางหลวง” เปิด 10 รายชื่อผู้รับจ้างก่อสร้างมอเตอร์เวย์ M82 ช่วง “เอกชัย–บ้านแพ้ว” (ยกระดับพระราม 2) 10 ตอน ระยะทาง 16.4 กม. มูลค่า 1.97 หมื่นล้าน คาดเซ็นสัญญาภายในปีนี้ เปิดให้บริการเต็มรูปแบบต้นปี 68 ช่วยแก้รถติดพระราม 2 เชื่อมเดินทาง–ขนส่งสินค้ากรุงเทพฯ ปริมณฑล ลงสู่ภาคใต้ฉลุย
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 82 สายบางขุนเทียน–บ้านแพ้ว (ยกระดับพระราม 2) ระยะที่ 2 ช่วงเอกชัย–บ้านแพ้ว ระยะทางรวม 16.4 กิโลเมตร(กม.) ว่า ขณะนี้ ทล.ได้รายชื่อผู้รับจ้างครบทั้ง 10 สัญญาแล้ว ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและนายศักดิ์สยามชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนน
โดยมีแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี เพื่อเสริมศักยภาพระบบการขนส่งทางถนนให้มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยง ครอบคลุม และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของประเทศ ซึ่งโครงการดังกล่าวใช้เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง (กองทุนมอเตอร์เวย์) วงเงิน 19,700 ล้านบาท ดังนี้
- ตอน 1 ทางหลวงหมายเลข 35 กม.20+295-22+474 ระยะทาง 2.179 กม. ค่างานก่อสร้าง 1,757,675,000 บาทบจก.อุดมศักดิ์เชียงใหม่ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด
- ตอน 2 ทางหลวงหมายเลข 35 กม.22+474 – 24+670 ระยะทาง 2.196 กม. ค่างานก่อสร้าง 1,861,800,000 บาทกิจการร่วมค้ากรุงธน–ไทย เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด
- ตอน 3 ทางหลวงหมายเลข 35 กม.24+670 – 25+734 ระยะทาง 1.064 กม. ค่างานก่อสร้าง 1,910,300,000 บาทกิจการร่วมค้าวีเอ็น เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด
- ตอน 4 ทางหลวงหมายเลข 35 กม.25+734 – 26+998 ระยะทาง 1.264 กม. ค่างานก่อสร้าง 1,876,300,000 บาทบจก.กรุงธนเอนยิเนียร์ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด
- ตอน 5 ทางหลวงหมายเลข 35 กม.26+998 – 28+664 ระยะทาง 1.666 กม. ค่างานก่อสร้าง 1,903,900,000 บาทบจก.บางแสนมหานคร เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด
- ตอน 6 ทางหลวงหมายเลข 35 กม.28+664 – 29+772 ระยะทาง 1.108 กม. ค่างานก่อสร้าง 1,865,000,000 บาทกิจการร่วมค้ายูเอ็น–เอเอสไอ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด
- ตอน 7 ทางหลวงหมายเลข 35 กม.29+772 – 31+207 ระยะทาง 1.435 กม. ค่างานก่อสร้าง 1,868,300,000 บาทบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวลีอปเมนต์ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด
- ตอน 8 ทางหลวงหมายเลข 35 กม.31+207 – 33+366 ระยะทาง 2.159 กม. ค่างานก่อสร้าง 1,910,000,000 บาทกิจการร่วมค้าซีซีเอสพี–เดอะซีอีซี เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด
- ตอน 9 ทางหลวงหมายเลข 35 กม.33+366 – 35+511 ระยะทาง 2.145 กม. ค่างานก่อสร้าง 1,859,870,000 บาทกิจการร่วมค้าซีเอ็มซี–ทีบีทีซี เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด
- ตอน 10 ทางหลวงหมายเลข 35 กม.35+511 – 36+645 ระยะทาง 1.134 กม. ค่างานก่อสร้าง 1,946,085,000 บาทกิจการร่วมค้าเอส.เค. เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด
นายสราวุธ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน–บ้านแพ้วช่วงเอกชัย–บ้านแพ้ว ระยะทางรวม 16.4 กม. มีรูปแบบเป็นทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 ขนาด 6 ช่องจราจรไป–กลับ โดยมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับโครงการระยะที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน–เอกชัย บริเวณ กม. 20+295 ในอ.เมืองสมุทรสาคร และสิ้นสุดบริเวณ กม.36+645 ใน อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร
ทั้งนี้ ทล.มีแผนดำเนินงานก่อสร้างโครงการฯ ในส่วนของงานโยธาระยะที่ 2 ในช่วงปี 2564-2567 และงานติดตั้งระบบต่างๆ ในช่วงปี 2566-2567 โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในต้นปี 2568 อย่างไรก็ตาม หากประชาชนผู้ใช้ทางต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมทางหลวง 1586 (โทรฟรี 24 ชม.) หรือ สำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง โทร. 0 2354 0069
รายงานข่าวจาก ทล. ระบุว่า มอเตอร์เวย์ ช่วงเอกชัย–บ้านแพ้ว มีรูปแบบเป็นทางยกระดับบนถนนพระราม 2 ขนาด 6 ช่องจราจรไป–กลับจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับโครงการระยะที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน–เอกชัย บริเวณ กม. 20+295 ใน อ.เมืองสมุทรสาคร และสิ้นสุดบริเวณ กม.36+645 ใน อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร มีทั้งหมด 6 ด่าน ประกอบด้วย 1.ด่านพันท้ายนรสิงห์ 2.ด่านมหาชัย 1, ด่านมหาชัย 2, ด่านสมุทรสาคร 1, ด่านสมุทรสาคร 2 และ ด่านบ้านแพ้ว
สำหรับการจัดค่าธรรมเนียมผ่านทางเส้นทางนี้ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ค่าธรรมเนียมแรกเข้า และค่าธรรมเนียมตามระยะทางที่ใช้จริงจากด่านต้นทางถึงด่านปลายทาง ประกอบด้วย รถยนต์ประเภท 4 ล้อ ค่าแรกเข้า 10 บาท และเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 2 บาท ต่อ กม., รถยนต์ประเภท 6 ล้อ ค่าแรกเข้า 16 บาท และเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 3.2 บาท ต่อกม. และ รถยนต์ประเภทมากกว่า 6 ล้อ ค่าแรกเข้า 23 บาท และเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 4.6 บาท ต่อ กม.
อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการดังกล่าว ดำเนินการแล้วเสร็จจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ 23,264 ล้านบาท และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจด้านการผลิต การขยายตัวด้านรายได้ และการจ้างงานกว่า 100,000 ล้านบาท เป็นหนึ่งในโครงข่ายสำคัญในการเดินทางและขนส่ง เชื่อมโยงกรุงเทพมหานคร (กทม.) สู่พื้นที่ภาคใต้ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และยังเป็นเส้นทางส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคใต้ กระจายรายได้ไปยังภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
พร้อมทั้ง ยกระดับขีดความสามารถของประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้เป็นไปตามที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนน โดยมีแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์ ระยะ 20 ปี (2560-2579) รวม 21 เส้นทาง ระยะทาง 6,612 กม. เพื่อเสริมศักยภาพระบบการขนส่งทางถนนให้มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยง ครอบคลุม และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของประเทศ